ประวัติวันสงกรานต์

คำว่า   “ สงกรานต์ ”   มาจากภาษาสันสกฤตว่า “ สํ-กรานต” ซึ่งแปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือย้ายขึ้น
โดยมีนัยความหมายว่า การเข้าสู่ศักราชราศีใหม่ หรือ วันขึ้นปีใหม่นั้นเอง  โดยเทศกาลสงกรานต์
นั้นเป็นประเพณีที่มีความเก่าแก่และคนไทยสืบทอดกันมาแต่โบราณคู่กับประเพณีตรุษจีนกันเลยทีเดียว
จึงได้มีการรวมเรียกกันว่า “ ประเพณีตรุษสงกรานต์” ซึ่งแปลว่าการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ นั้นเอง

วันมหาสงกรานต์

ในสมัยโบราณ คนไทยถือว่า วันขึ้น ๑ ต่ำ เดือนอ้าย ซึ่งจะตรงในช่วงเดือน   พฤศจิกายน หรือ ธันวาคม  
ให้เป็นวันขึ้นปีใหม่  แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการเปลี่ยนให้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่
จนต่อมาในสมัยยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ได้เปลี่ยนวันปีใหม่ให้เป็นวันสากล คือ วันที่ ๑   มกราคม 
แต่ถึงอย่างไร คนโบราณก็ยังคงคุ้นเคยกับวันปีใหม่ไทยในเดือนเมษายน จึงได้กำหนดให้วันที่ ๑๓ เมษายน
เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยร่วมด้วย


ประเพณีวันสงกรานต์


  ถือเป็นประเพณีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ ประชาชนจะจัดให้มีกิจกรรมที่ถือ
ปฏิบัติเป็นกิจกรรมของชุมชนและสังคม ที่ทุกเพศ ทุกวัย และ ต่างฐานะสามารถสมัครสมานในงานเทศกาลนี้ แสดงออกด้วย
ความพร้อมเพรียงในการตระเตรียมทำความสะอาดบ้านเรือน วัด ความพร้อมใจในการทำบุญให้ทาน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่
ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อ บรรพบุรุษและบุพการี การสรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่
การเล่นรื่นเริง เช่น การเล่นพื้นบ้าน พื้นเมืองต่าง ๆ และสิ่งที่เป็น การเล่น
ซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ของเทศกาลนี้คือ การเล่นสาดน้ำ ของหนุ่มสาวและเด็กด้วยน้ำใจไมตรี

          สภาพการณ์ดังกล่าวนี้นำ ไปสู่ความเกื้อกูลผูกพันด้วยสายใยของวัฒนธรรมที่เป็นมรดก เก่าแก่ของไทยเรา  
ประเพณีวันสงกรานต์   นับเป็นประเพณีที่มีคุณค่าต่อ ครอบครัว ชุมชน สังคม และศาสนา กล่าวคือ

        ๑. คุณค่าต่อครอบครัว ทำให้สมาชิกของครอบครัวได้มี โอกาสมาอยู่รวมกัน เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที เช่น
ลูก-หลาน มารดน้ำขอพรจากบิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย และมอบของขวัญ ให้แก่ท่านเหล่านั้น
รวมทั้งมีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ ล่วงลับไปแล้วด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้

       ๒. คุณค่าต่อชุมชน ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี ในชุมชน เช่น
ร่วมกันทำบุญให้ทานพบปะสังสรรค์สนุกสนาน รื่นเริงร่วมกัน

        ๓. คุณค่าต่อสังคม ทำให้มีความเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการ ช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม
ที่สาธารณะ ตลอดจนอาคารสถานที่ของหน่วยงานต่าง ๆ

        ๔. คุณค่าต่อศาสนา ช่วยกันทำนุบำรุงพระศาสนา คือ การทำบุญ ตักบาตร
หรือเลี้ยงพระการปฏิบัติธรรมฟังเทศน์ การ สรงน้ำพระ


ตำนานวันสงกรานต์

        กล่าวไว้ว่า ก่อนพุทธกาลมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง อายุเลยวัยกลางคนก็ยังไร้ทายาทสืบสกุล
ซึ่งทำให้ท่านเศรษฐีทุกข์ใจเป็นอันมาก ข้างรั้วบ้านเศรษฐีมีครอบครัวหนึ่ง หัวหน้าครอบครัวเป็นนักเลงสุรา
ถ้าวันไหนร่ำสุราสุดขีด ก็จะพูดเสียงดังแสดงวาจาเยาะเย้ยเศรษฐีสบประมาทในความมีทรัพย์มาก
แต่ไร้ทายาทสืบสมบัติเสมอ วันหนึ่งเศรษฐีจึงถามว่ามีความขุ่นเคืองอะไรจึงแสดงอาการเยาะเย้ยและสบประมาท
เฒ่านักดื่มจึงตอบ ถึงท่านมั่งมีสมบัติมากก็จริง แต่เป็นคนมีบาปกรรมท่านจึงไม่มีบุตร
ตายไปแล้วสมบัติก็ตกเป็นของผู้อื่นหมด สู้เราไม่ได้ถึงแม้จะยากจนแต่ก็มีบุตรคอยดูแลรักษายามเจ็บไข้
และรักษาทรัพย์สมบัติเมื่อเราสิ้นใจ

        นับแต่นั้นมา เศรษฐียิ่งมีความเสียใจ จึงพยายามไปบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์
เพียรพยายามตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร ทำเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันถึงสามปี
ก็ไม่ได้บุตรดังที่ตนปรารถนาจนวันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์
ท่านเศรษฐีก็พาข้าทาสบริวารของตนมาที่โคนต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำที่อาศัยของนกทั้งหลาย
ท่านเศรษฐีให้บริวารล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาดถึง 7 ครั้ง แล้วจึงหุงข้าวสารนั้น เมื่อสุกแล้วยกขึ้นบูชาพระไทร
เทพเหล่านั้นเกิดความสงสาร จึงขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์ ทูลขอบุตรแก่เศรษฐี
พระอินทร์จึงบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ ธรรมบาลเทพบุตร ลงมาเกิด


ภาพวาด ท้าวกบิลพรหม

ตำนานนางสงกรานต์

บุตรของเศรษฐี ชื่อ   ธรรมบาลกุมาร   เป็นผู้ที่รู้ภาษานก เรียนไตรเพทจบ เมื่ออายุเจ็ดขวบ
เป็น อาจารย์ บอก มงคลต่าง ๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง ซึ่งในขณะนั้น โลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหม
และกบิลพรหมองค์หนึ่งว่า เป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมทราบ
จึงลงมาถาม ปัญหา ธรรมบาลกุมาร ๓ ข้อ สัญญาไว้ว่า ถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา
ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ปัญหานั้นว่า

ข้อ ๑. เช้าราศีอยู่แห่งใด 
ข้อ ๒. เที่ยงราศีอยู่แห่งใด
ข้อ ๓. ค่ำราศีอยู่แห่งใด 

ธรรมบาลขอผลัด ๗ วัน ครั้นล่วงไปได้ ๖ วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดไม่ได้
จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาลสองต้น มีนกอินทรี ๒ ตัวผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น  
ครั้ง เวลาค่ำนางนกอินทรีจึงถามสามีว่า พรุ่งนี้จะได้อาหารแห่งใด สามีบอกว่า
จะได้กินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย เพราะทายปัญหาไม่ออก
นางนกถามว่า ปัญหานั้นอย่างไรสามีจึงบอกว่า

ปัญหาว่าเช้าราศีอยู่แห่งใด เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ค่ำราศีอยู่แห่งใด นางนกถามว่า
จะแก้อย่างไร สามีบอกว่า เช้าราศีอยู่หน้า  มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีอยู่อก 
มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก เวลาค่ำราศีอยู่เท้า 
มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้าครั้งรุ่งขึ้นท้าวกบิลพรหมมาถามปัญหา
ธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมา 

ท้าวกบิลพรหมจึงตรัส เรียกเทพธิดาทั้ง ๗ อันเป็นบริจาริกาพระอินทร์มาพร้อมกัน
บอกว่า เราจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาร ศีรษะของเราถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดินไฟก็จะไหม้ทั่วโลก
ถ้าจะทิ้งขึ้นบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งไว้ในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง  

ธิดาทั้งเจ็ดเอาพานมารับศีรษะ แล้วก็ตัดศีรษะส่งให้ธิดาผู้ใหญ่ นางจึงเอาพานมารับพระเศียรบิดาไว้
แล้วแห่ทำประทักษิณ รอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที จากนั้นเชิญไปประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธุลีเขาไกรลาศ
บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่าง ๆ พระเวสสุกรรมกันฤมิตรแก้วเจ็ดประการชื่อ ภควดี ให้เป็นที่ประชุม เทวดา  
เทวดาทั้งปวงนำเอาเถาฉมุลาด ลงมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทุก ๆ พระองค์
ครั้งถึงครบกำหนด ๓๖๕ วัน โลกสมมติว่า ปีหนึ่งเป็นสงกรานต์นางเทพธิดาเจ็ดองค์
ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม ออกแห่ประทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก
ซึ่งลูกสาวทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหมนั้น

เราสมมติเรียกว่า นางสงกรานต์ มีชื่อต่าง ๆ ดังนี้
วันอาทิตย์ ชื่อนางทุงษะเทวี
วันจันทร์ ชื่อนางโคราคะเทวี
วันอังคาร ชื่อนางรากษสเทวี
วันพุธ ชื่อนางมณฑาเทวี
วันพฤหัส ชื่อนางกิริณีเทวี
วันศุกร์ ชื่อนางกิมิทาเทวี
วันเสาร์ ชื่อนางมโหธรเทว

กิจกรรมวันสงกรานต์

๑. ทำบุญตักบาตร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ชีวิต  

๒. ปล่อยนกปล่อยปลา
คนไทยมีความเชื่อว่าการปล่อยนกปล่อยปลา ถือว่าเป็นการล้างบาปบางส่วนที่ตนเป็นผู้ก่อ
อีกทั้งทำให้เคราะห์ร้ายที่จะเกิดขึ้นหมดไป  

๓. ให้ทานแก่ผู้ที่ขัดสน
เช่น คนชรา เด็กพิการ เด็กกำพร้า เป็นต้น  

๔. สรงน้ำพระ
แบ่งออกเป็น 2 อย่าง ได้แก่ การสรงน้ำพระพุทธรูป และการสรงน้ำพระภิกษุ  

๕. การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่
ได้แก่ บิดา มารดา ญาติผู้ใหญ่ และบุคคลที่มีพระคุณ
การรดน้ำผู้ใหญ่ในวันสงกรานต์ ด้วยต้องการขอขมาสิ่งที่อาจจะล่วงเกินผู้ใหญ่ ในบางครั้ง
รวมถึงเป็นการขอพรเพื่อเป็นสิริมงคล และข้อคิดเตือนใจแก่ตนเอง อีกทั้งเพื่อเป็นการแสดง
ถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณอีกด้วย การรดน้ำ ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ
ซึ่งแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีของบุตรหลานที่มีต่อบุพการีหรือญาติผู้ใหญ่ อีกทั้งเป็น การขอพรจากบิดามารดา
ญาติผู้ใหญ่ เพื่อเป็นสิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่  

๖. การละเล่นสาดน้ำ
ประเพณีนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของวันสงกรานต์เลยทีเดียว
ด้วยงานฉลองวันสงกรานต์นั้นเป็นช่วงฤดูร้อน ประเพณีเริ่มจากการที่มีการสรงน้ำพระ และรดน้ำญาติผู้ใหญ่
การเล่นสาดน้ำนั้นนิยมกันในหมู่ของหนุ่มสาว น้ำที่ใช้สาดกันนั้นจะใส่น้ำอบน้ำหอม
แต่ในปัจจุบันประเพณีอันดีงามอันนี้ได้จางหายไปตามกาลเวลาและยุคสมัย ในปัจจุบันมีการสาดน้ำกันอย่างรุนแรง
รวมถึงได้มีการนำอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการละเล่นสาดน้ำมากขึ้นด้วย


นางสงกรานต์ ๒๕๕๙ มณฑาเทวี”

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับวันสงกรานต์
ในวันสงกรานต์ของประเทศไทยในแต่ละภาคจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

–  สงกรานต์ภาคกลาง
๑๓ เมษายน จะเรียกว่า “ วันมหาสงกรานต์” และถือเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย
๑๔ เมษายน จะเรียกว่า “ วันเนา” และถือเป็นวันครอบครัว
๑๕ เมษายน จะเรียกว่า “ วันเถลิงศก” ถือว่าเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่

   – สงกรานต์ภาคเหนือ
๑๓ เมษายน จะเรียกว่า “ วันสงขารล่อง” ความหมายว่า อายุสิ้นปีหมดไปอีกปี
๑๔ เมษายน จะเรียกว่า “ วันเน่า” วันที่ห้ามพูดคำหยาบคาย
๑๕ เมษายน จะเรียกว่า “ วันพญาวัน” ถือว่าเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่

   – สงกรานต์ภาคใต้
๑๓ เมษายน จะเรียกว่า “ เจ้าเมืองเก่า” เชื่อกันว่าวันที่เทวดารักษาบ้านเมืองจะกลับบนสวรรค์
๑๔ เมษายน จะเรียกว่า “ วันว่าง” วันที่ปราศจากเทวดารักษาเมือง
๑๕ เมษายน จะเรียกว่า “ วันรับเจ้าเมืองใหม่” วันรับเทวดาองค์ใหม่เพื่อดูแลบ้านเมืองแทนองค์เดิม

สาระ
๑. เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงการที่ชีวิตได้ผ่านพ้นไปปีหนึ่ง
และจะต้องเผชิญกับชีวิตในปีใหม่อีกต่อไปด้วยความไม่ประมาท
๒. เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้แพร่หลายยิ่งขึ้นไป
๓. เป็นการส่งเสริมความสำนึกในกตัญญูกตเวทีที่แสดงต่อบุพการี และบรรพบุรุษ
๔. เป็นการสืบทอดการละเล่น การละเล่นพื้นเมือง และประเพณีอันดีงาม
๕. มีการชักชวนให้งดเว้นอบายมุข เช่น งดเว้นการดื่มสุราเมรัย การเล่นการพนัน

การกำหนดนับวันสงกรานต์
จึงตกอยู่ในระหว่างวันที่ ๑๓ , ๑๔ และ ๑๕ เมษายน 
ซึ่งทั้ง ๓ วันจะมีชื่อเรียกเฉพาะดังนี้ คือ

วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า มหาสงกรานต์   หมายถึง การที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากที่ผ่านการเข้าสู่ราศีอื่นๆ แล้วครบ ๑๒ เดือน

วันที่ ๑๔ เมษายน
เรียกว่า วันเนา หมายถึง การที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าอยู่ราศีเมษประจำที่เรียบร้อยแล้ว 

วันที่ ๑๕ เมษายน
เรียกว่า วันเถลิงศก หรือ วันขึ้นศก คือ วันที่เริ่มเปลี่ยนจุลศักราชใหม่
การที่กำหนดให้อยู่ในวันนี้นั้นเพื่อให้แน่ใจได้ว่าดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีนขึ้นอยู่ราศีเมษแน่นอนแล้ว
อย่างน้อย ๑ องศา 

หมายเหตุ เป็นความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ และประเพณีความเชื่อดั่งเดิม
ประยุกต์เข้ากับพระพุทธศาสนา

อาราธนาพระพุทธรูปลงสรงน้ำ   คำอธิษฐานสรงน้ำพระว่า  
คำกล่าวขอขมาพระรัตนตรัย พิธีสรงน้ำพระในบ้าน

 

ชมภาพทั้งหมดได้ที่

วัดป่ามหาชัย นครพนม | Facebook


ข่าวสารงานบุญอื่นๆ