อัสสุตวตาสูตร ที่ ๒

[ ๒๓๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน
อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ปุถุชนผู้มิได้สดับ
จะพึงเบื่อหน่ายบ้างคลายกำหนัดบ้าง หลุดพ้นบ้าง
ในร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะว่า ความเจริญก็ดี ความเสื่อมก็ดี การเกิดก็ดี การตายก็ดี
ของร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูต ทั้ง ๔ นี้ ย่อมปรากฏ ฉะนั้น

ปุถุชนผู้มิได้สดับ จึงเบื่อหน่ายบ้าง คลายกำหนัดบ้าง หลุดพ้นบ้าง
ในร่างกายนั้น แต่ตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า
จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง

ปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่อาจจะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด
หลุดพ้นในจิตเป็นต้นนั้นได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะเหตุว่าจิตเป็นต้นนี้ อันปุถุชน ผู้มิได้สดับ รวบรัดถือไว้ด้วยตัณหา
ยึดถือด้วยทิฐิว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้
ตลอดกาลช้านาน ฉะนั้น ปุถุชนผู้มิได้สดับ จึงจะเบื่อหน่าย
คลายกำหนัด หลุดพ้นในจิตเป็นต้นนั้นไม่ได้เลย ฯ

[ ๒๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ปุถุชนผู้มิได้สดับ
จะพึงเข้าไปยึดถือเอาร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้
โดยความเป็นตน ยังชอบกว่า แต่จะเข้าไปยึดถือเอาจิตโดย
ความเป็นตนหาชอบไม่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้
เมื่อดำรงอยู่ปีหนึ่งบ้าง สองปีบ้าง สามปีบ้าง สี่ปีบ้าง ห้าปีบ้าง
สิบปีบ้าง ยี่สิบปีบ้าง สามสิบปีบ้าง สี่สิบปีบ้าง ห้าสิบปีบ้าง ร้อยปีบ้าง
ยิ่งกว่าร้อยปีบ้าง ย่อมปรากฏ

แต่ว่าตถาคต เรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้
ว่า จิตบ้าง มโนบ้างวิญญาณบ้าง จิตเป็นต้นนั้น
ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืน และในกลางวัน

[ ๒๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย! อริยสาวกผู้ได้สดับ
ย่อมใส่ใจด้วยดีโดยแยบคายถึง ปฏิจจสมุปบาทธรรม
ในร่างกายและจิตที่ตถาคตกล่าวมานั้นว่า เพราะเหตุดังนี้

เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ

เพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนา จึงเกิดสุขเวทนา
เพราะผัสสะ อันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนา นั้นดับไป
สุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะ
อันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนา จึงดับ จึงสงบไป

เพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนา จึงเกิดทุกขเวทนาขึ้น
เพราะผัสสะ อันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนา นั้นดับไป
ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยผัสสะ
อันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนานั้น จึงดับ จึงสงบไป

เพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นปัจจัยแห่งเวทนาที่ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์
จึงเกิดอทุกขมสุขเวทนาขึ้น เพราะผัสสะอันเป็นปัจจัย แห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นดับไป
อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยผัสสะ
อันเป็นปัจจัยแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้น จึงดับ จึงสงบไป ฯ

[ ๒๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย!
เพราะไม้สองอันครูดสีกัน จึงเกิดไออุ่น เกิดความร้อน
แต่ถ้าแยกไม้ ทั้งสองอันนั้นแหละ ออกเสียจากกัน
ไออุ่น ซึ่งเกิดจากการครูดสีกันนั้น ก็ดับไป สงบไป แม้ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย! เพราะอาศัยผัสสะ
อันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนา จึงเกิดสุขเวทนาขึ้น
เพราะผัสสะอัน เป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนานั้นดับไป
สุขเวทนา ที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยผัสสะ
อันเป็นปัจจัย แห่งสุขเวทนานั้น จึงดับ จึงสงบไป

เพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนา จึงเกิดทุกขเวทนาขึ้น
เพราะผัสสะ อันเป็นปัจจัย แห่งทุกขเวทนานั้น ดับไป
ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นปัจจัย
แห่งทุกขเวทนานั้น จึงดับ จึงสงบไป

เพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นปัจจัยแห่งเวทนา
ที่มิใช่ทุกข์ มิใช่สุข จึงเกิดอทุกขมสุขเวทนาขึ้น
เพราะผัสสะ อันเป็นปัจจัย แห่งอทุกขมสุขเวทนานั้น ดับไป
อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยผัสสะ
อันเป็นปัจจัย แห่งอทุกขมสุขเวทนานั้น จึงดับ จึงสงบไป ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ






[ ๒๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย! อริยสาวกผู้ได้สดับ
มาพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่าย แม้ในผัสสะ
ย่อมหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมหน่ายแม้ในสัญญา
ย่อมหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมหน่ายแม้ในวิญญาณ

เมื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด
จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
และย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้แลฯ

จบสูตรที่ ๒

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย ) เล่มที่ ๑๖
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
หน้าที่ ๙๔/ ๒๘๘ หัวข้อที่ ๒๓๒ - ๒๓๕