ประวัติ “ ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ทั้ง ๔ ต้น 
ณ พุทธคยา แดนตรัสรู้ 
ต้นโพธิ์ที่มีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธ


“ พุทธคยา” มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า วัดมหาโพธิ์ (Mahabodhi Temple) เป็นสถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมี
“ ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เป็นโพธิญาณพฤกษาหรือพันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้ 
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกด้านหลังของพระมหาเจดีย์พุทธคยา และมีพระแท่นวัชรอาสน์
หรือโพธิบัลลังก์ประดิษฐานคั่นอยู่ระหว่างกลาง  รวมทั้งหมดมี ๔ ต้นและทั้ง ๔ ต้นนี้ได้เจริญเติบโตทดแทนกันมาเรื่อยๆ
จากที่เดิมและมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน นับเป็นอนุสรณ์สถานที่มีคุณค่าของชาวพุทธและมวลมนุษยชาติทั่วโลก  ทั้งนี้
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ พุทธคยา ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็น “ มรดกโลก” ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม จากองค์การยูเนสโก (UNESCO)

( ๑) ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๑ 

เป็นต้นไม้คู่พระบารมีและเป็นสหชาติของพระโพธิสัตว์ เกิดขึ้นพร้อมกับวันที่พระโพธิสัตว์ประสูติ  ตามพุทธประวัติกล่าวว่า 
สหชาติมี ๗ ประการ (สัตตสหชาติ)  คือ พระนางพิมพา, พระอานนท์พุทธอนุชา, นายฉันนะ, อำมาตย์กาฬุทายี, ม้ากัณฐกะ, ขุมทรัพย์ ๔
มุมเมือง และต้นอัสสัตถพฤกษ์หรือต้นพระศรีมหาโพธิ์ 

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๑ เป็นต้นที่พระพุทธเจ้าทรงประทับตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ 
พระองค์ได้รับการถวายหญ้ากุสะจำนวน ๘ กำจากโสตถิยพราหมณ์ เพื่อปูเป็นที่ประทับเมื่อใกล้รุ่งของวันเพ็ญ เดือน ๖
จึงตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระองค์ตรัสว่า ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นต้นไม้แทนพระพุทธองค์
หากใครได้ไหว้ได้สักการะต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็เท่ากับว่าได้ไหว้สักการะพระพุทธองค์
และหลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว มีผู้เลื่อมใสศรัทธามากราบไหว้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นจำนวนมาก 

ในสมัย  พระเจ้าอโศกมหาราช  กษัตริย์ชาวพุทธผู้ยิ่งใหญ่
พระองค์ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภ์ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก เช่น
ทรงสร้างพระเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชาจำนวนถึง ๘๔, ๐๐๐ องค์ ฯลฯ
ซึ่งทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชไม่สนพระทัยในความสุขส่วนพระองค์เหมือนเช่นเคย
ว่างเว้นจากราชกิจก็มาปฏิบัติธรรมใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ไม่กลับวังที่ประทับ ทรงเคารพรักต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นอย่างยิ่ง
จะเสด็จไปนมัสการอยู่ตลอดเช้าเย็น
จึงเป็นเหตุให้เหล่าพระมเหสีนางสนมทั้งหลายไม่พอพระทัยที่พระองค์ทรงเอาใจใส่ต้นพระศรีมหาโพธิ์มากเกินไป
ต่างพากันโกรธแค้นอิจฉาต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระมเหสีองค์ที่ ๔ ของพระเจ้าอโศกมหาราช พระนามว่า  มหิสุนทรี (พระนางติษยรักษิต) 
ได้รับสั่งให้นางข้าหลวงนำยาพิษและน้ำร้อนแอบไปรดที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์เพื่อทำลาย บางแห่งบอกว่า
พระนางเอาเงี่ยงกระเบนมีพิษมาทิ่มรากต้นพระศรีมหาโพธิ์ จนทำให้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ตายไปในที่สุด
รวมอายุของต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นแรกประมาณ  ๓๕๒ ปี

เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบ ก็ทรงวิสัญญีภาพ (สลบ) ล้มลงในที่นั้น ทรงเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง
ได้ทรงมีรับสั่งให้มหาดเล็กเอาน้ำนมโค ๑๐๐ หม้อไปรดที่บริเวณรากของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ล้มตายลงไปนั้นทุกวัน
และทรงตั้งสัตยาธิษฐานพร้อมกับการสักการะก้มกราบ พระองค์ทรงมีพระราชปรารภว่า 
หากแม้ว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ไม่แตกหน่อขึ้นมาแล้วไซ้ร์จะไม่ยอมลุกขึ้นเป็นอันขาด 
ด้วยพุทธานุภาพและพระราชศรัทธาอันแรงกล้าแห่งพระเจ้าอโศกมหาราช 
เป็นที่อัศจรรย์ต้นพระศรีมหาโพธิ์ภายหลังก็แตกหน่องอกขึ้นมาใหม่ จึงได้นับหน่อนี้เป็นต้นที่ ๒
และมีอายุยืนต่อมาอีกหลายร้อยปี  พระเจ้าอโศกมหาราชทรงดีพระทัยเป็นอันมาก
จึงทรงมีรับสั่งให้ก่อกำแพงล้อมรอบไว้เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับต้นพระศรีมหาโพธิ์อีก 

( ๒) ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๒ 

ถือเป็นต้นที่แตกหน่อมาจากต้นแรก การที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก
จึงมีการนำต้นพระศรีมหาโพธิ์ไปปลูกในประเทศต่างๆ ด้วย เช่น  คณะของพระโสณเถระ-พระอุตตรเถระ  เดินทางไปยังดินแดนสุวรรณภูมิ และ 
คณะของพระมหินทเถระ-พระนางสังฆมิตตาเถรี  เดินทางไปยังประเทศศรีลังกา เป็นต้น
โดยพระภิกษุและพระภิกษุณีเหล่านี้ได้นำต้นหรือกิ่งของต้นพระศรีมหาโพธิ์ไปด้วย

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๒ ถูกทำลายจนล้มตายอีกครั้งในสมัย  พระเจ้าปูรณวรมา  กษัตริย์ชาวพุทธแห่งแคว้นมคธ
เนื่องจากแคว้นมคธของพระองค์ได้ถูกรุกรานโดย  พระเจ้าสาสังการ  กษัตริย์ชาวฮินดูแห่งแคว้นเบงกอล
ซึ่งเมื่อขึ้นครองราชย์ก็ทรงมีนโยบายทำลายพระพุทธศาสนา ครั้นเมื่อได้ยกกองทัพมาถึงบริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์
ก็ไม่พอพระทัยด้วยเพราะพระองค์นับถือฮินดู จึงทรงรับสั่งให้ตัดต้นและขุดราก ใช้ฟางอ้อยสุม ใช้น้ำมันราด
และเผาต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งมีอายุประมาณ  ๘๗๑-๘๙๑ ปี  จนล้มตาย รวมทั้ง
รับสั่งให้ทำลายพระพุทธรูปในพระมหาเจดีย์พุทธคยาทั้งหมด มีเพียงพระพุทธรูป “ พระพุทธเมตตา”
เท่านั้นที่รอดพ้นจากการถูกทำลายในคราวนั้น
เนื่องจากนายทหารผู้ที่ได้รับคำสั่งให้ไปทำลายพระพุทธรูปไม่กล้าทำลายเพราะเป็นชาวพุทธ
จึงได้ใช้วิธีเอาแผ่นอิฐมาก่อเป็นกำแพงปิดทางเข้าห้องบูชาเพื่อไม่ให้ใครเห็น เป็นการกำบังพระพุทธรูปไว้อย่างมิดชิด

๗ วันหลังจากนั้น พระเจ้าสาสังการทรงได้รับผลกรรมจากการสั่งให้ทำลายต้นพระศรีมหาโพธิ์ ฯลฯ ทั่วพระวรกายเกิดแผลพุพอง
เน่าเปื่อยเนื้อหลุดเป็นชิ้นๆ อาเจียนเป็นพระโลหิต และสิ้นพระชนม์อย่างอนาถที่พุทธคยา ในตอนนั้น  พระเจ้าปูรณวรมา 
ได้เสด็จมาพอดี จึงตีทัพของแคว้นเบงกอลแตกพ่ายไป ต่อมาได้มาพบเห็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ล้มตายเช่นนั้น
ก็ทรงเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงรับสั่งให้ทหารพร้อมด้วยชาวบ้านร่วมกันไปรีดน้ำนมโค ๑, ๐๐๐ ตัว แล้วกลั่นให้ข้นเหลือ ๘
ตัว เอาน้ำนมที่ได้เทราดตรงบริเวณหลุมต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นเก่าที่ถูกเผา พระองค์ทรงนอนคว่ำหน้าลงกับพื้น
พร้อมตั้งสัตยาธิษฐานตามแบบพระเจ้าอโศกมหาราช โดยทรงมีพระราชปรารภว่า  ถ้ามาตรแม้นหน่อแห่งต้นโพธิ์ยังไม่งอกขึ้นตราบใด
ข้าพเจ้าก็จักไม่ยอมจากไปจากสถานที่นี้โดยตราบนั้น
ข้าพเจ้าขอยอมถวายชีวิตเพื่อบูชาอุทิศต่อพระศรีมหาโพธิ์ตลอดชั่วลมปราณ  ด้วยสัจจวาจากิริยาธิษฐานของพระองค์นี้นี่แล
หน่อน้อยที่ ๓ ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็งอกขึ้นมาอย่างอัศจรรย์
พระองค์เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นหน่อน้อยงอกขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ก็เกิดปีติโสมนัส
จึงจัดการสร้างกำแพงล้อมต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นไว้อย่างแน่นหนา เพื่อป้องกันมิให้ศัตรูเข้ามาทำลายได้อีกต่อไป
จึงได้นับหน่อนี้เป็นต้นที่ ๓

( ๓) ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๓ 

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๘  นายพลโทเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม (Sir Alexander Cunningham)  ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีชาวอังกฤษ
หัวหน้าคณะสำรวจพุทธสถานในช่วงอังกฤษปกครองประเทศอินเดีย
เป็นผู้มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาเป็นอันมากเนื่องจากเป็นผู้ขุดค้นพบพุทธสถานหลายแห่ง รวมทั้ง
สถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
จนทำให้พระพุทธศาสนาเป็นที่รู้จักของชาวอินเดียหลังจากลืมเลือนไปแล้วกว่า ๘๐๐ ปี
ท่านได้เดินทางไปที่เมืองพุทธคยาเป็นครั้งที่สอง พบว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ทรุดโทรมมาก
ประชาชนชาวฮินดูในบริเวณนั้นได้ตัดกิ่งก้านไปทำเชื้อเพลิง ครั้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๒๑-๒๔๒๓ ได้เกิดพายุใหญ่
เป็นเหตุให้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เบียดกับพระมหาเจดีย์พุทธคยา กระทั่งหักโค่นล้มลงไปทางทิศตะวันตกและล้มตายไปเอง
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๓ นี้มีอายุยืนนานมากประมาณ๑, ๒๕๘-๑, ๒๗๘ ปี 

( ๔) ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๔ 

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๔ เป็นต้นที่ยังคงยืนต้นอยู่เหนือพระแท่นวัชรอาสน์ หรือโพธิบัลลังก์ ที่พุทธคยาในปัจจุบัน
เป็น ๑ ใน ๒ หน่อที่แตกขึ้นมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๓ ที่ล้มตายไป
และได้ชื่อว่าเป็นต้นโพธิ์ที่มีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธ

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๓  ท่านเซอร์คันนิ่งแฮม  ได้เดินทางไปที่พุทธคยาอีกครั้ง พบกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ล้มอยู่
และได้พบหน่อโพธิ์งอกอยู่ที่ใต้ต้นเดิม  จำนวน ๒ หน่อ หน่อหนึ่งสูง ๖ นิ้ว 
ได้บำรุงดูแลปลูกไว้ที่บริเวณต้นเดิมอีกหน่อหนึ่งสูง ๔ นิ้ว  แยกนำไปปลูกไว้ในที่ไม่ไกลจากต้นเดิมทางด้านทิศเหนือ
ห่างกันประมาณ ๒๕๐ ฟุต 

ท่านเซอร์คันนิ่งแฮม  เข้าใจว่าสถานที่ท่านนำต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นหลังไปปลูกนั้น
เป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์เสด็จประทับยืนทอดพระเนตรพิจารณาต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้ประทับตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ที่เรียกว่า“ อนิมิสเจดีย์” แต่ความเห็นนี้ไม่ตรงตามพระบาลีและคนส่วนมากเข้าใจกัน เพราะตามพระบาลีนั้นกล่าวไว้ว่า
อนิมิสเจดีย์อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ 

ปัจจุบัน “ ต้นพระศรีมหาโพธิ์” หน่อหรือต้นที่ ๔ ทั้ง ๒ ต้นยังคงยืนต้นอยู่ มีอายุยืนถึงทุกวันนี้กว่า ๑๓๓ ปี
(นับจากเริ่มปลูกประมาณระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๒๓-๒๕๕๖)  ท่านสาธุชนชาวพุทธผู้มีกุศลศรัทธาสามารถเดินทางไปกราบสักการะได้ด้วยตนเอง
ปัจจุบันมีสายการบินไทยบินตรงจากสนามบินสุวรรณภูมิถึงพุทธคยา โดยใช้เวลาบินเพียง ๓ ชั่วโมง ๑๕ นาทีเท่านั้น
ท่านก็จะได้กราบสักการะต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่แดนตรัสรู้แล้ว

ในรัชสมัย  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ประเทศไทยได้พันธุ์ต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากพุทธคยา แดนตรัสรู้
โดยตรงเป็นครั้งแรก  พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปปลูกไว้ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ
และวัดอัษฎางคนิมิตร เกาะสีชัง อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี


ต้นพระศรีมหาโพธิ์”  
ที่สำคัญที่ยังคงยืนต้นอยู่ในปัจจุบันนี้ มี ๓ ต้น คือ

( ๑) ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ พุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย


ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ พุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งยืนต้นอยู่เหนือพระแท่นวัชรอาสน์ หรือโพธิบัลลังก์
ในปัจจุบันนี้นับเป็น “ ต้นพระศรีมหาโพธิ์” หน่อหรือต้นที่ ๔
เป็น ๑ ใน ๒ หน่อที่แตกขึ้นมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๓ ที่ล้มตายไป  
โดยท่านเซอร์คันนิ่งแฮม ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีชาวอังกฤษ  
ได้บำรุงดูแลปลูกหน่อหนึ่งไว้ที่บริเวณต้นเดิม อีกหน่อหนึ่งแยกนำไปปลูกไว้
ในที่ไม่ไกลจากต้นเดิมทางด้านทิศเหนือ ห่างกันประมาณ ๒๕๐ ฟุต  
ปัจจุบันต้นพระศรีมหาโพธิ์ทั้ง ๒ ต้นยังคงยืนต้นอยู่ มีอายุยืนถึงทุกวันนี้กว่า   ๑๓๓ ปี  
( นับจากเริ่มปลูกประมาณระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๒๓-๒๕๕๖)  
ได้ชื่อว่าเป็นต้นโพธิ์ที่มีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธ

ในรัชสมัย   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ประเทศไทยได้พันธุ์ต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา แดนตรัสรู้ โดยตรงเป็นครั้งแรก  
ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำไปปลูกไว้ ณ วัดเบญจมบพิตร และวัดอัษฎางคนิมิตร จ.ชลบุรี  

( ๒) ต้นอานันทโพธิ์ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย


“ ต้นอานันทโพธิ์” ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี

เป็นต้นดั้งเดิม โดยเป็นต้นโพธิ์ที่ได้ปลูกเป็นต้นแรกในสมัยพุทธกาล  
ที่ประตูหน้าวัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ชมพูทวีป
( ปลูกจากเมล็ดของ “ ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ณ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้)  
โดยพระอานนท์เป็นผู้ดำเนินการตามความปรารภของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  
จึงเรียกชื่อว่า อานันทโพธิ์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นต้นโพธิ์ที่มีอายุยืนที่สุดในโลก  
ที่ยังคงยืนต้นอยู่มาจนถึงปัจจุบัน มีอายุกว่า ๒, ๕๕๖ ปี  ( มีอายุมากกว่าพุทธศักราช)
และชาวพุทธนับถือว่ามีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์เป็นอันดับสองรองจาก  
“ ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ณ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

พุทธคยาในสมัยพุทธกาล หลังจากการตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธเจ้าแล้ว  
ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระพุทธองค์ได้ทรงเสด็จมา ณ ที่แห่งนี้ แต่อย่างใด  
มีกล่าวถึงในอรรถกถา แต่เมื่อคราวพระอานนท์ได้มายังพุทธคยา  
เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับตรัสรู้
กลับไปปลูก ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ตามความปรารภของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  
ซึ่งปรารถนาให้มีสิ่งเตือนใจเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปประทับที่อื่น

ประวัติความเป็นมาของ “ ต้นอานันทโพธิ์” จากหนังสือปูชาวัลลิยะ  
ของสมาคมมหาโพธิ์ เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย   กล่าวไว้ว่า  

“ แม้ว่าพระเชตวันมหาวิหาร จะเป็นที่ยังความสะดวกและความสงบให้เกิดได้
ยิ่งกว่าสถานที่แห่งใดๆ อันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า  
แต่พระองค์ได้ประทับพักตลอดปีไม่ แต่ละปีพระพุทธองค์ทรงประทับพัก
เพียง ๓ เดือนในพรรษาเท่านั้น ส่วนอีก ๙ เดือนของปีนอกฤดูฝน
พระองค์เสด็จจาริกออกไปแสดงธรรมในคามนิคมชนบทและหัวเมืองอื่น

เมื่อพระพุทธเจ้าต้องเสด็จไปสู่ที่อื่นประมาณปีละ ๙ เดือน  
ชาวนครสาวัตถีผู้เลื่อมใสในพระธรรม ใคร่จะทูลเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เป็นนิจ  
ไม่ปรารถนาให้พระองค์เสด็จไปประทับแห่งใดๆ จึงพากันเกิดความเดือดร้อนใจ  
ปรึกษากันว่า จะทำไฉนหนอ จึงจะทูลเชิญพระองค์ให้ประทับอยู่ตลอดปีได้  
เมื่อพระองค์ต้องเสด็จไป ก็ทำให้เกิดความอ้างว้างใจ  
จะหาสิ่งใดของพระองค์ให้ปรากฏอยู่เป็นเครื่องระลึกแทนองค์พระพุทธเจ้าได้”

ความนั้นทราบถึง   พระอานนท์เถระ พุทธอุปัฏฐาก   เป็นต้น จึงนำกราบทูลให้ทรงทราบ  
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงพระมหากรุณา จึงรับสั่งให้นำ   ผลสุขแห่งโพธิ์ (เมล็ด)
ที่ตำบลพุทธคยา มาปลูกไว้ที่หน้าวัดพระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี
เพื่อเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์ จักได้เป็นที่บูชากราบไหว้ของคนทั้งปวง  

ครั้งนั้น   พระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกฝ่ายซ้าย   ทราบความประสงค์ของพระพุทธเจ้า  
จึงทูลอาสาแสดงฤทธิ์ โดยเหาะไปในอากาศถึงตำบลพุทธคยา  
นำเอาผลสุขแห่งโพธิ์ (เมล็ด) กลับมายังพระเชตวันมหาวิหารได้ในวันเดียวกันนั้น

ครั้นนำผลสุขแห่งโพธิ์ (เมล็ด) มาแล้ว ก็มีการปรึกษากันว่า ผู้ใดจักสมควรเป็นผู้ปลูก  
เบื้องต้นชาวเมืองและพระสงฆ์พร้อมใจกันถวายพระเกียรติแด่  
พระเจ้าปเสนทิโกศล   กษัตริย์ผู้ครองกรุงสาวัตถี ให้ทรงเป็นผู้ปลูก แต่ทรงปฏิเสธ  
โดยบอกว่าฐานะกษัตริย์ย่อมไม่มั่นคงถาวร ทายาทที่จะมาภายหลังจะให้ความคุ้มครอง
บารุงรักษาต้นโพธิ์ต่อไปนี้ได้หรือไม่ก็ไม่ทราบได้ จึงควรยกเกียรตินี้ให้แก่คนอื่น  

ในที่สุดก็ได้ตกลงให้   ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี   เป็นผู้ปลูก  
เพราะด้วยคิดกันว่า ต้นโพธิ์จะอยู่ภายในที่สาคัญของท่านอย่างหนึ่ง  
และท่านมีบริวารข้าทาสหญิงชายมาก คงสืบตระกูลช่วยกันรักษาต้นโพธิ์
ต่อๆ กันไปได้อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปลูกเสร็จก็ได้มีการฉลองต้นโพธิ์  
และพระพุทธองค์ก็ได้เสด็จประทับนั่งอยู่ภายใต้ต้นโพธิ์ ๑ ราตรี  
ตั้งแต่นั้นมา ชาวเมืองก็พากันกราบไว้ต้นโพธิ์เสมือนเครื่องระลึกแทนพระพุทธเจ้า  
ที่เรียกชื่อว่า อานันทโพธิ์ นั้นเป็นเพราะว่าพระอานนท์เป็นผู้จัดการดูแล
เรื่องการปลูกและรดน้ำจนต้นโพธิ์เจริญเติบโตนั่นเอง  

อานันทโพธิ์ต้นนี้ยังคงยืนต้นอยู่ ณ ภายในวัดเชตวันมหาวิหาร
นครสาวัตถี รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ตราบเท่าถึงปัจจุบันนี้

อานันทโพธิ์   คือต้นโพธิ์ที่มาจาก   ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้  
ชาวพุทธทั่วโลกจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก  
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาถูกทำลายมาแล้ว ๓ ครั้ง แต่ที่วัดเชตวันมหาวิหารนี้ยังคงอยู่  
เราจึงเชื่อว่า ต้นอานันทโพธิ์มีความศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา

( ๓) ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา


ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา


( เมืองอนุราธปุระ เป็นเมืองมรดกโลกและเมืองหลวงแห่งแรกของประเทศศรีลังกา)  
หลังพุทธกาลในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๓  
พระนางสังฆมิตตาเถรี พระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช  
พระภิกษุณีรูปสุดท้ายในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท  
ขณะทรงอัญเชิญพระคัมภีร์ทางพุทธศาสนามาเผยแผ่ในประเทศศรีลังกาเป็นครั้งแรก  
ได้ทรงนำ   กิ่งด้านขวาของ “ ต้นพระศรีมหาโพธิ์”   ณ พุทธคยา ประเทศอินเดีย  
อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาพร้อมกันด้วย
โดยทรงเดินทางลงเรือมามอบให้แด่   พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ  
เพื่อให้ประดิษฐาน (ทรงปลูก) ไว้ ณ เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ ยังคงยืนต้นอยู่มาจนถึงปัจจุบัน มีอายุกว่า   ๒, ๓๐๑ ปี  
อันเนื่องมาจากชาวศรีลังกาได้ทำนุบำรุงรักษาดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีตลอดมา  
มีการค้ำด้วยไม้ที่หุ้มด้วยทองคำ และทำรั้วกำแพงทองคำล้อมรอบไว้  
ผู้ที่จะเข้าไปกราบสักการะต้องผ่านการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่เพื่อความปลอดภัย  

ในรัชสมัย   พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
ปี พ.ศ. ๒๓๕๗ พระสมณทูตไทยได้นำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมืองอนุราธปุระ  
มาด้วยจำนวน   ๖ ต้น   โดยโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช ๒ ต้น
นอกนั้นปลูกไว้ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์, วัดสุทัศนเทพวราราม,  
วัดสระเกศฯ และที่เมืองกลันตัน ประเทศมาเลเซีย แห่งละ ๑ ต้น

อนึ่ง ครั้งที่   ศ.ดร.นรนิติ เศรษฐบุตร   เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  
ได้มีโอกาสไปสักการะ “ ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ณ เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา  
และได้อัญเชิญหน่อของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้ไปสักการะในครั้งนั้น  
มาปลูกไว้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นที่ร่มเย็นอยู่จนถึงทุกวันนี้

เหตุไฉน ? จึงได้ชื่อว่าต้นโพธิ์ โพธิญาณพฤกษา

พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้

        ใน พระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ โคตมพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 28
พระนามว่า พระโคตมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรประพฤติทุกรกิริยาอยู่ 6 ปี จึงได้ประทับตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ณ
ควงไม้อัสสัตถะ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา

“ ต้นอัสสัตถะ” หรือ “ ต้นอัสสัตถพฤกษ์” นั้น รู้จักกันดีในชื่อของ ต้นโพ, ต้นโพธิใบ, ต้นโพธิ์ หรือพระศรีมหาโพธิ
ชาวลังกาเรียกว่า Bohd tree และชาวอินเดียเรียกว่า Pipal
นี้นับได้ว่าเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธประวัติอีกชนิด หนึ่ง เพราะเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร
ในระหว่างบำเพ็ญพรตเพื่อหาสัจธรรมนั้น ได้ทรงเลือกนั่งประทับที่โคนต้นโพธิ์จนกระทั่งพระองค์ได้ตรัสรู้พระสัมมา
สัมโพธิญาน คือ อริยสัจ 4 อันประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เมื่อวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6

แม้พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระ พุทธเจ้าแล้ว ก็ยังต้องทรงใช้พลังจิตรบกับพวกมาร (การเอาชนะกิเลสฝ่ายต่ำ)
ก็โดยประทับอยู่ใต้โคนต้นโพธิ์อีกเช่นกัน เพราะโพธิ์มีร่มเงาเหมาะแก่การพักพิงและบำเพ็ญพรตเป็นอย่างยิ่ง
ปัจจุบันต้นโพธิ์ที่สำคัญที่สุดอยู่ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย แต่ว่าไม่ใช่ต้นเดิมแต่ครั้งพุทธกาล
เป็นต้นที่แตกหน่อมาจากต้นเดิม

คำบูชาต้นศรีมหาโพธิ์

วันทา มิ ภันเต ภะคะวา อิมัง โพธิรุกขะเจติยัง, สังเวชะนียัง ฐานัง, ยัตถาคะโตมหิ, สัทธัสสะ กุละปุตตัสสะ ทัสสะนียัง, อิธะ คะยาสีเส,
ตถาคะเตนะ สะเทวะเก โลเก สมาระเก สะพรัหมะเก สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทธังฯ
สาธุ โน ภันเต อิเมหิ สักกาเรหิ อภิปูชะยามิ สวากขาตัญจะ นะมามิ มัยหัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะฯ

คำแปล ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้า ได้จาริกตามรอยบาทพระศาสดา มาถึงแล้ว ขอถวายอภิวาท ต้นพระศรีมหาโพธิ์
และพระเจดีย์นี้ อันเป็นสังเวชนียสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธา ควรมาเห็น เป็นสถานที่พระตถาคตเจ้า
ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ ณ ตำบล คยาสีสะประเทศแห่งนี้ ฯ ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้า ขอบูชาโดยยิ่ง
ด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้ และขอน้อมระลึกถึงพระธรรม ที่ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ขออานุภาพแห่งการสักการะในครั้งนี้
จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพระพุทธเจ้า ตลอดกาลนาน เทอญ ฯ


  รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
( ๑)   บทความของพระมหา ดร.คมสรณ์ คุตฺตธมฺโม  
เจ้าอาวาสวัดไทยเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย  
บางตอนในหนังสือ...คู่มือเส้นทางบุญสู่สังเวชนียสถาน
http://www.oknation.net/blog/mylifeandw ... 07/entry-1
( ๒)   หนังสือปูชาวัลลิยะ สมาคมมหาโพธิ์ เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย
เว็บไซต์เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมกวย   http://www.kuay.org  
  ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ ::   ซึ่งบันทึกและเอื้อเฟื้อโดย  
คุณ Venfaa Aungsumalin และคุณเอ ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน  

  โพธิญาณพฤกษา : ต้นโพธิ์ (ต้นอัสสัตถะ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19553

  พุทธสังเวชนียสถาน  
: สถานที่อันเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=39377