เกร็ดในงานถวายผ้ากฐินในประเทศไทย

ธงกฐินนั้นจะมีอยู่ ๔ อย่างคือ ๑ . รูปจระเข้ ๒ . รูปนางมัจฉา ๓ . รูปตะขาบ ๔ . รูปเต่า

เกร็ดในงานถวายผ้ากฐินในประเทศไทย
สมัยโบราณนิยมแห่ผ้ากฐินไปทอดตามวัดต่าง ๆ โดยอาศัยเรือเป็นสำคัญ
การเดินทางไปตามลำน้ำมักมีอันตรายจากสัตว์น้ำต่าง ๆ เนือง ๆ เช่น จระเข้ขึ้นมาหนุนเรือให้ล่ม
ขบกัดผู้คนบ้าง คนแต่ก่อนหวั่นเกรงภัยเช่นนี้ จึงคิดอุบายทำธงจระเข้ปักหน้าเรือ
ไปเป็นทำนองประกาศให้สัตว์ร้ายในน้ำ เช่น จระเข้ ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่และดุร้ายกว่าสัตว์อื่นๆ
ในน้ำ ให้รับทราบการบุญการกุศล จะได้พลอยอนุโมทนาและมีจิตใจอ่อนลง
ไม่คิดที่จะทำอันตรายแก่ผู้คนในขบวนซึ่งเดินทางไปประกอบพิธีการทางศาสนา

เนื่องจากถือกันว่าดาวจระเข้เป็นดาวสำคัญ การเคลื่อนขบวนทัพในสมัยโบราณ
ต้องคอยดูดาวจระเข้ขึ้น ซึ่งเป็นเวลาจวนสว่างแล้ว การทอดกฐินเป็นพิธีทำบุญที่มีอานิสงส์ไพศาล
เพราะทำในเวลาจำกัด มีความสำคัญเท่ากับการเคลื่อนขบวนทัพในชั้นเดิมผู้จะไปทอดกฐิน
ต้องเตรียมเครื่องบริขารและผ้าองค์กฐินไว้อย่างพร้อมเพรียง แล้วแห่ไปวัดในเวลาดาวจระเข้ขึ้น
ไปแจ้งเอาที่วัด ต่อมาจึงมีผู้คิดทำธงจระเข้โดยถือว่า ดาวจระเข้เป็นดาวบอกเวลาเคลื่อนองค์กฐิน  

มีเรื่องเล่าว่า มีอุบาสกคนหนึ่งนำองค์กฐินแห่ไปทางเรือมีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญในการทอดกฐิน
จึงว่ายน้ำตามเรืออุบาสกนั้นไปด้วย แต่ไปได้พักหนึ่งจึงบอกแก่อุบาสกนั้นว่า
ตนตามไปด้วยไม่ได้แล้วเพราะเหนื่อยอ่อนเต็มที ขอให้อุบาสกจ้างช่างเขียนภาพของตนที่ธง
แล้วยกขึ้นไว้ในวัดที่ไปทอดด้วยอุบาสกรับคำจระเข้แล้วก็ทำตามที่จระเข้สั่ง
ตั้งแต่นั้นมาธงรูปจระเข้จึงปรากฏตามวัดต่าง ๆ ในเวลามีการทอดกฐิน  

อนึ่ง มีข้อความในจาตุมสูตรตอนหนึ่ง แสดงภัยที่จะเกิดกับพระไว้ ๔ อย่างด้วยกัน
ซึ่งเปรียบด้วยภัยที่เกิดแก่บุคคลที่ลงในแม่น้ำหรือทะเล คือ

๑.ภัยเกิดแต่ความอดทนต่อโอวาทคำสอนมิได้ ท่านเปรียบเสมือนคลื่น เรียกว่า อุมฺมิภยํ
๒.ภัยเกิดแต่การเห็นแก่ปากแก่ท้อง ทนความอดอยากมิได้ท่านเปรียบเสมือนจระเข้ เรียกว่า กุมฺภีลภยํ
๓.ภัยเกิดแต่ความยินดีในกามคุณ ๕ ท่านเปรียบเสมือนวังน้ำวน เรียกว่า อาวฏฺฏภยํ
๔.ภัยเกิดแต่การรักผู้หญิง ท่านเปรียบเสมือนปลาร้ายเรียกว่า สุสุกาภยํ

พิจารณารูปธงที่ช่างประดิษฐ์ขึ้น จะเห็นว่ามีภัย ๔ อย่างอยู่ครบ
ต่างแต่ว่าเด่นมาก เด่นน้อย หรือเป็นเพียงแทรกอยู่ในความหมายที่เด่นมาก
คือ รูปจระเข้ รองลงไปคือ รูปคลื่น ส่วนอีก ๒ อย่างคือ รูปวังน้ำวนและปลาร้าย
ปรากฏด้วยรูปน้ำเป็นสำคัญ บางรายเขาเพิ่มธงปลาร้ายขึ้นอีกธงหนึ่ง เรียกว่า “ ธงมัจฉา ”

ธงรูปจระเข้หรือธงรูปนางมัจฉานี้ ปักไว้ที่หน้าวัด เพื่อแสดงให้ทราบว่าที่วัดนี้ได้จองกฐินหรือทอดกฐินแล้ว
ด้วยถือกันมาว่าวัดหนึ่ง ๆ จะรับกฐินได้ปีละครั้งเดียวเท่านั้น ผู้ที่ผ่านไปมาจะได้พลอยอนุโมทนาด้วย

ธงกฐินนั้นจะมีอยู่ ๔ อย่าง
คือ ๑ . รูปจระเข้ ๒ . รูปนางมัจฉา ๓ . รูปตะขาบ ๔ . รูปเต่า
ซึ่งเป็นปริศนาธรรม มีความหมายว่า
๑ . จระเข้หมายถึงความโลภ สื่อที่ปากจระเข้มีขนาดใหญ่
๒ . ตะขาบ หมายถึงความโกรธ สื่อถึงพิษของตะขาบ
๓ . นางมัจฉา หมายถึงความหลง ใช้รูปนางเงือกที่เป็นหญิงสาวรักสวยรักงาม
๔ . เต่า หมายถึงสติ การระวังป้องอายตนะทั้ง
๖ เหมือนเต่าที่หด หัว ขา หาง ป้องกันอันตราย เพื่อสอนว่า ความโลภ โกรธ หลง
ต้องรู้จักควบคุมจิตใจด้วยการมีสติ นั่นเอง  

อื่น ๆ
กฐินเดาะ
คำว่าเดาะในภาษาไทยแปลว่าร้าวจนหัก แต่ในความหมายของพระวินัย
คือพระสงฆ์ที่ได้รับกฐินแล้วได้สิทธิ์ในการขยายเวลาในการทำจีวรออกไปได้อีก ๔ เดือน
แต่ในระหว่างนั้นภิกษุออกจากวัดโดยที่ไม่คิดกลับมา และหมดความกังวลจีวร
คือทำจีวรเสร็จแล้วหรือยังไม่เสร็จแต่เกิดเสียหายหรือสูญหายไปจึงหมดหวังที่จะได้ผ้ามาทำจีวรอีก

กฐินตกค้าง กฐินตก กฐินจร หรือกฐินโจร
กฐินตกค้าง กฐินตก กฐินจร หรือกฐินโจร เป็นการทอดกฐินแก่วัดตกค้างที่ไม่มีใครจองกฐิน
ในวันใกล้ ๆ ที่จะหมดเขตกำหนดทอดกฐิน ถือกันว่าได้บุญได้อานิสงส์แรงกว่าการทอดกฐินธรรมดา
และที่เรียกว่ากฐินจรหรือกฐินโจรนั้น เพราะกิริยาอาการที่ไปทอดนั้นเป็นการไปอย่างไม่ให้รู้เนื้อรู้ตัว จู่ ๆ
ก็ไปทอดไม่บอกให้วัดรู้ล่วงหน้า  

เชิงอรรถ
หมายเหตุ ๑:   การทำผ้าจีวรในสมัยโบราณต้องใช้เวลาและความร่วมมือในการทำมาก
การที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตกฐินเพื่อให้คณะสงฆ์ทั้งหมดที่จำพรรษามาด้วยกันในอาวาสเดียวกัน
มาร่วมทำกิจกรรมเพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ (องค์   ( วัตถุ)   กฐินตามพระวินัยนั้น
มีผ้าในไตรจีวรเพียงผืนเดียว เช่น มีจีวรเพียงผืนเดียว หรือมีสบงเพียงผืนเดียว
ก็สามารถประกอบสังฆกรรมนี้ได้)

หมายเหตุ ๒:   โดยพระวินัยนั้นพระภิกษุมีหน้าที่ต้องรักษาผ้าครองไตรจีวรของตน
หากไม่สามารถรักษาไว้ได้ตลอดคืนหนึ่งย่อมต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์
ดังนั้นการที่พระพุทธองค์ทรงผ่อนปรนพระวินัยให้ภิกษุผู้กรานกฐิน
ไม่จำต้องรักษาไตรจีวรของตนครบสำรับดังกล่าว จึงเป็นการผ่อนปรนเพื่อเป็นอานิสงส์ให้พระสงฆ์ผู้กรานกฐิน

หมายเหตุ ๓:   คำว่า คณโภชน์ มีความเข้าใจผิดกันมากว่าหมายถึง ล้อมวงฉัน
แต่ความจริงคณโภชน์ในคณโภชนสิกขาบท หมายถึงภิกษุ ๔ รูปขึ้นไป
รับนิมนต์ฉันที่เขานิมนโดยออกชื่อโภชนะ ๕ คือ ข้าว ปลา เนื้อ ขนมสด ขนมแห้ง
ถ้าหากได้อานิสงส์กฐินแล้ว พระภิกษุสามารถรับนิมนต์ที่เขานิมนต์ฉันโดยออกชื่อโภชนะ ๕ ได้
ตลอดระยะเวลาอานิสงส์กฐิน


ทีมา
http://th.wikipedia.org/wiki/กฐิน

คำอุปโลกน์กฐิน , แบบสวดกรรมวาจาให้ผ้ากฐิน, คำอธิษฐานผ้ากฐิน
เกร็ดในงานถวายผ้ากฐินในประเทศไทย
ชนิดของกฐินในประเทศไทย
ประวัติความเป็นมาของกฐิน