ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ทุติยปัณณาสก์
นิวรณวรรคที่ ๑

๑ . อาวรณสูตร

[ ๕๑ ] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค
ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ทุรพล ๕
ประการเป็นไฉนนิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ กามฉันทะ ๑ นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ พยาบาท ๑
นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ ถิ่นมิทธะ ๑ นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ อุทธัจจกุกกุจะ ๑ นิวรณ์
เครื่องกางกั้น คือ วิจิกิจฉา ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ประการนี้แล ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ทุรพล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นไม่ละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ อันครอบงำจิต
ทำปัญญาให้ทุรพลแล้วจักรู้จักประโยชน์ของตน ประโยชน์ของผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ
ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ด้วยปัญญาที่ไม่มีกำลัง ทุรพล

ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือน แม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ไปสู่ที่ไกล มีกระแสเชี่ยว
พัดสิ่งที่จะพัดไปได้ บุรุษพึงเปิดปาก เหมืองแห่งแม่น้ำนั้นทั้งสองข้าง
เมื่อเป็นเช่นนี้ กระแสน้ำในท่ามกลางแห่งแม่น้ำนั้น ก็ซัดส่าย ไหลผิดทาง ไม่พึงไหลไปสู่ที่ไกล
ไม่มีกระแสเชี่ยว ไม่พัดสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ฉันใด

ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกันแลหนอไม่ละนิวรณ์ เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ อันครอบงำจิต
ทำปัญญาให้ทุรพลแล้วจักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ
ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยปัญญาอันไม่มีกำลัง ทุรพล ข้อนั้นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุนั้นละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ อันครอบงำจิต
ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ
ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ด้วยปัญญาอันมีกำลัง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้

เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขาไปสู่ที่ไกล พัดสิ่งที่พอจะพัดไปได้
บุรุษพึงปิดปากเหมืองแห่งแม่น้ำนั้นทั้งสองข้าง เมื่อเป็นเช่นนี้
กระแสน้ำในท่ามกลางแม่น้ำนั้น ก็จักไม่ซัดไม่ส่ายไหลไม่ผิดทาง พึงไหลไปสู่ที่ไกลได้
มีกระแสเชี่ยว และพัดในสิ่งที่พอพัดไปได้ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกันแลหนอ
ละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ประการนี้ อันครอบงำจิตทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว
จักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะ
อันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์
ด้วยปัญญาอันมีกำลัง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ


จบสูตรที่ ๑

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย ) เล่มที่ ๒๒
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก - ฉักกนิบาต
หน้าที่ ๕๖-๕๗ หัวข้อที่ ๕๑