ธรรมะของหลวงปู่(๒)

พระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปํญโญ)
วัดธาตุมหาชัย ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม

หลวงปู่เทศน์อบรมนักปฏิบัติธรรม ณ วัดป่าอรัญญคาม
ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม เช้าวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๓

วันนี้จะได้พูดถึงเรื่องการปฏิบัติธรรม เราเริ่มปฏิบัติกันมาตั้งแต่วันที่ ๒๖ ธันวาคม จนถึงวันที่ ๗ วันนี้
นับว่าเป็นการใช้สติ ปัญญา ใช้วิริยะ ความเพียร ใช้ขันติ ความอดทน ของตัวเอง พอสมควร สมควรแก่นิสัยบุคคล
นิสัยแต่ละท่าน แต่การปฏิบัติธรรมนี้ ครูบาอาจารย์ได้แนะนำไว้แล้วทุกๆท่าน เมื่อรู้แนวทางแล้ว การเดินการปฏิบัติ
ก็เป็นหน้าที่ของนักปฏิบัติทั้งหลาย ไม่ใช่หน้าที่ของอาจารย์ อาจารย์เพียงแต่บอกแนะ ตักเตือนผิดถูกเท่านั้น
เมื่อรู้จักผิดถูกแล้วก็ให้เดินเอง

การเดินทางด้วยจิต จะต้องประสบกับสิ่งที่ต้องประสบ หมายความว่าประสบการณ์เดินทางของจิตบางทีก็ปรากฏ เห็นรูป
บางทีก็ได้ยินเสียง บางทีก็ได้รส บางทีก็ได้โผฏฐัพพะ เย็นร้อนอ่อนแข็งเข้ามาสัมผัสกับร่างกาย บางทีก็เกิดปั่นป่วน
จิตใจ ไม่ปกติ จิตใจเต้นตึงไม่อยู่กับที่ เขาเรียกว่าความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นในใจ จัดว่าเป็นนิวรณ์ตัวหนึ่ง
อันนี้สิ่งที่ต้องประสบในการเดินทางทางจิตนี้ เมื่อประสบอันใดขึ้น เราก็แก้สถานการณ์ อันที่ปรากฏขึ้น ที่เราเห็น
ถ้าเห็นรูปปรากฏขึ้นมา รูปนี้ทั้งดีทั้งเลว ให้รักให้เกลียด ถ้าเรามี สติปัญญาไม่ทันก็ปล่อยให้มันไหลเข้ามาหาใจ
เมื่อไหลเข้ามาหาใจแล้วก็รับ ส่วนใจเรารักดีรักชั่ว เกิดกิเลสอีกแล้ว อันนี้อย่ารับ ถ้าเห็นรูปก็กำหนดทันที
อย่าปล่อยให้มันมาหาตัวเรา เห็นรูปก็กำหนดว่ารูป รูปนี้ มันเกิดได้ ดับได้ มันไม่ใช่เรา ช่างมันเถิด ปล่อยเสีย
รูปนั้นก็จะหายไป ถ้าเห็นรูปอย่างใด อย่างหนึ่ง เช่นรูปปรากฏขึ้นเป็นรูปอัปลักษณ์ หรือรูปที่น่าสงสาร น่าเอ็นดู
เราก็แผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศลให้ เขาก็จะหายไป

ถ้าได้ยินเสียง เสียงร้องไห้ หรือเสียงขับร้องต่าง ๆ เสียงรำ เสียงเพลงต่าง ๆ เสียงที่ มันจะไปยั่วยวนต่าง ๆ ให้เรารับรู้
ให้เราชอบ และให้เราเกลียด เราก็กำหนดทันทีเมื่อได้ยิน เสียงนั้น กำหนดว่า “เสียง” เสียงมันเกิดก็เกิดได้ ดังได้
มันเป็นธรรมชาติ ช่างมันเถิด ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ปล่อยมันเสีย เสียงมันก็หายไป ถ้าเสียงร้องไห้
เสียงร้องขอความช่วยเหลือ เราก็แผ่เมตตาให้เขา ถ้าบ่แผ่เมตตาบ่ได้ มันซิมาร้องไห้ใส่เรื่อย ๆ ต้องแผ่ต่อไปอีก

ก็กลิ่นเหมือนกัน รสเหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นมาให้กำหนด เช่น
ถ้าสัมผัสถูกต้อง เช่น เย็น มันเย็นมา เราก็กำหนดว่าเย็น เย็นนี้เป็นของธรรมชาติมันเกิดขึ้น แล้วก็ดับเป็นของธรรมดา
พิจารณาอย่างนี้ จิตของเราก็อย่าไปติดกับเย็นนั้น ปล่อยวางเสีย มากำหนดภาวนาอย่างเดิม อย่างที่เราเคยทำ
ถ้าร้อนกระทบทางกายก็ดี เราก็กำหนดว่าร้อน กำหนดแล้ว ก็วางปล่อย จิตของเราอย่าไปติดอยู่ ถ้าติดอยู่มันก็เป็นอุปาทาน
มันไม่หาย ถ้าติด ไม่หาย ถ้าปล่อยวางแล้วมันหายเอง จิตไม่รับ

ทีนี้ถ้าแข็งกระด้าง ที่เรานั่งในดินในป่าไม่เหมือนกับที่เรานั่งในบ้านของเรา มีเจ็บบ้างปวดบ้าง ดินมีสูงต่ำไม่เสมอ
ก็ทำให้เราปวดขึ้นในร่างกาย ปวดแข้งปวดขา ปวดอวัยวะ ส่วนใดส่วนหนึ่ง เมื่อปวดขึ้นมากก็กำหนดทุกขเวทนา
คือเวทนามันเกิดขึ้นตรงนี้ ในตรงที่รับสัมผัสนี้ เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วปล่อย
ถ้าเราปล่อยให้ตัววิญญาณรับรู้ว่ามันแข็งบ้าง วิญญาณมันจะมีพลังมันจะส่งเข้าไปในจิต ส่งไปหาจิต จิตก็รับรู้
รู้ตัว สัญญาณมันเกิด มันจำไว้ เราก็ปวดขึ้นมาทันที ปวดมากขึ้นด้วย เจ็บมากขึ้น อุปาทานมันยึด เข้ามาติด
บัดนี้เรากำหนด ว่ามันแข็ง มันก็เป็นทุกข์ เวทนานี้ก็สักว่าเวทนา คือเสวยอารมณ์เป็นทุกข์ เฉย ๆ ก็เป็นเวทนา
เราก็กำหนดว่าเวทนา มันเกิดขึ้น มันก็ดับได้ มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่เรา ช่างมันเถิด ปล่อยเสียวางเสีย
ความเจ็บปวดก็จะหายไป ถ้าเราจะไปจี้อยู่ ปวดหนอ เอาจิตไปจี้อยู่ตรงนั้น มันไม่หายหรอก เรายึดมันอยู่ จะหายได้อย่างไร
ถ้าเอาจิตหนีเมื่อไร มันหายเมื่อนั้น นี่การแก้กรรมฐาน การแก้ในเวลาเมื่อเราเดินทางทางจิต มันเห็น

ถ้ามันเกิดสี อย่างสีขาว สีแดง สีเหลือง สีอะไรก็ตาม ก็กำหนดว่ามันคือสี สีมันเกิดขึ้น มันก็ดับเป็นธรรมดา
อย่าไปติดอยู่กับมัน ปล่อยเสีย วางเสีย สีตัวนี้เป็น วิปัสสนูกิเลส มันไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่ดวงแก้วมณี ไม่ใช่ดวงธรรม
อันนั้นมันเป็นวิปัสสนูกิเลส กิเลสขึ้นในระยะที่จิตสงบ เกิดขึ้นมา เรากำหนดสี แล้วก็จะหายไป
ก็เหมือนอย่างอาจารย์เคยพูดเคยเตือนอยู่ว่า ถ้าเรากำหนดสีนี้ลูกศรเรามันคม ยิงเปรี๊ยะไปก็ถูกมัน โลดเด้อ !
ถ้ากำหนดว่ารูปนึกในใจ มันก็ดับลงไป สู้เราไม่ได้ลูกศรเราคม เนื้อก็ล้ม ถ้าศัตรูมันล้มก็สู้เราไม่ได้ อันนี้
ศัตรูของจิตทั้งนั้น มายุให้จิตของเราไขว้เขว ให้จิตของเราหลง หลงรัก ยุให้จิตของเราหลงเกลียด
มันล้วนแล้วแต่สร้างกิเลสให้เกิดขึ้น

แต่เบื้องต้นกิเลสมันนอนอยู่ มันอยู่ใต้จิตของเรา เราทำจิตให้เป็นสมาธิ มันไม่ได้มีพลังอะไร
เหมือนกับน้ำอยู่ในโอ่ง มีขี้ตะกอนนอนก้น น้ำใส น้ำไม่ไหวติงสะเทือน ขี้ตะกอนมันก็นอนเมื่อตะกอนนอนน้ำก็ใส
คนจะใช้ก็ใช้ได้ คนจะดื่มก็ดื่มได้ อันบุคคลที่ทำจิตให้เป็นสมาธิ กิเลสมันก็นอนอยู่ ความโลภก็นอน ความโกรธก็นอน
ความหลงก็นอน ทิฏฐิมานะก็นอน นอนทั้งหมด ความอาฆาตพยาบาทจองเวร ความอิจฉาริษยาในจิตในใจเคยมีอยู่ก็นอนหมด
ไม่มีอะไรไหวติง อันนี้เวลาทำสมาธิ

เมื่อหากว่าจิตของเรา ออกจากสมาธิแล้ว มันอิ่ม แล้วมันออกเอง เราไม่ได้ออกหรอก มันอิ่ม มันถอยเอง คือเรากินอาหาร
กินอิ่มก็ถอนเอง ไม่มีผู้ใดฝืนไป ฝืนไปก็ไม่ได้ อันนี้ก็เช่นกัน การทำสมาธินี้ ถ้าอิ่มแล้ว เราจะบังคับอีก
จะทำสมาธิอีก มันก็ไม่ลง มันก็พลิกไปพลิกมา ปลิ้นไปปลิ้นมา ไปหน้าไปหลังอยู่นั่นแหละ เพราะมันอิ่มแล้ว เต็มแล้ว

เมื่อออกมา ก็พิจารณารูปร่างกายและจิตใจของตัวเอง พิจารณากาย อันกว้างศอกยาววาหนาคืบ กายของเรานี้กว้างศอก ยาวว่า
หนาคืบเป็นเมืองกายนครเป็นเมืองของพญาจิตตะราช แล้วพญามัจจุราชจะมาตัดรอน ในเมืองนี้ มาทำลายเมืองนี้ คือความตาย
พิจารณาเมืองนี้เต็มไปด้วยของที่ไม่สะอาดไม่สวยไม่งาม ตาก็ไม่สวย หูก็ไม่สวย อะไรก็ไม่สวยหรอก มันสกปรกโสมม
มันสวยแต่เฉพาะเราหลง เราหลงเพราะเราไม่ได้คิด เมื่อเราคิด เราพิจารณาให้เห็นด้วยปัญญาแล้ว มันไม่สวยหรอก
กายนี้สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขามันเกิดขึ้นมา มันก็แตกหัก มันก็เปื่อยก็เน่าไป
ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในกายนี้ พิจารณาอย่างนี้

เราพิจารณาอย่างนี้เพื่ออะไร เพื่อให้เราคลายความรักให้คลายกิเลสในตัวเป็นกามฉันท์
ความรักใคร่พอใจในรูปอันนี้ให้มันเพลา ให้มันเบาลงไป เรารักเท่าไรเขาก็เอาตาย มาให้เรา เรารักเท่าไรก็เอาแก่มาให้เรา
รักเท่าไรก็เอาเจ็บมาให้เรา มันไม่ใช่ขอความรักเราด้วยความสดชื่น ด้วยความยืนยาวนานด้วยความหนุ่มแน่น ด้วยความสวย
งามเปล่งปลั่งอย่างเดิม ไม่ใช่รักเท่าใดเอาเฒ่า เอาแก่มา ให้รักเท่าไรเอาพยาธิ
เอาโรคภัยไข้เจ็บมาให้พยาธิมันเกิดอยู่ในรูปขันธ์อันนี้นะ มันมีอยู่แปดหมื่นจำพวก จำพวกที่กินเส้นผม
ตัวหนอนมันก็กินเส้นผม จำพวกกินผิวหนัง มันก็กินอันนี้ มันกินภายในมันกินหมด กินเลือด กินยาง กินเส้น
กินเอ็นที่โรคของมัน เรารักก็เพื่ออันนี้ มันกินอยู่มันกินเท่าไรก็เอาทุกข์มาให้เราเรื่อย ๆ

ทำไมเราถึงเป็นทุกข์ ก็เพราะเรายึด เรายึดว่าร่างกายนี้เป็นของเราของเรา เราหวงแหน มันก็เป็นได้ดอก มันเป็นได้โดยสมมุติ
แต่โดยธรรมะนั้นมันไม่ใช่ มันเป็นของธรรมชาติ มันเกิดขึ้นด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันขึ้นอาศัยปัจจัย คือ
กุศลกรรม อกุศลกรรม อาเนญชารกรรม แต่ให้เกิดขึ้นมาเป็นรูปร่างอันนี้ เมื่อมันหมดธาตุ หมดเหตุปัจจัยแล้วมันก็ดับลง
ไม่มีอะไรเหลือ อยู่อันใดเกิดแต่เหตุ อันนั้นก็ดับที่เหตุ ถ้าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยแล้ว ไม่มีดับไม่มีเกิดอีก
ย่างพระนิพพานไม่มีดับ ไม่มีเกิดอีกแล้ว เรียกว่าสิ้นชาติสิ้นภพ พวกเรายังเป็นสามัญชนอยู่หรือเป็นปุถุชนอยู่
เรายังเวียนว่ายตายเกิด เพราะเรายังไม่เบื่อ เรายังรักยังชอบ ยังหวงแหนอยู่ ไม่เบื่อ สิ่งเหล่านี้พอใจมันอยู่ รูปก็พอใจ
พอใจหมด รูปเวทนา สัญญาสังขารวิญญาณ เราพอใจมันหมด เรายึดมันหมด ยึดอุปาทานหมด เมื่อเรายึดเท่าไหร่ ๆ
ก็ยิ่งให้ทุกข์เท่านั้น ถ้าเราไม่ยึดเราปล่อยวางเสีย เออ... อันนี้มันเป็นธรรมชาตินะ เราบังคับบัญชา
ไม่ได้หรอกมันเป็นของประจำธรรมชาติ ถึงคราววางเราก็วางมัน เราคิดถึง เราก็วาง เรารักษาไว้เพื่อประกอบความเพียรเท่านั้น

ถ้ามีชีวิตมีร่างมีกายอยู่ เราก็จะได้ประกอบความเพียรได้สร้างคุณงามความดี ให้เกิดขึ้นในใจในกาย
ถ้าอันนี้หมดไปแล้วเราก็สร้างอะไรไม่ได้ แต่ว่าเรารักจริงจังอะไรไม่ได้หรอก เรารักเราต้องรู้ ความหมายของมัน
มันจะต้องจากเราไปครั้งหนึ่งในวันสุดท้ายอย่างแน่นอน ไม่มีใครเหลือ อยู่ในโลกนี้ เมื่อเรารักจริง ๆ ถ้าเรารักจริง ๆ
เราต้องสร้างร่างกายอันนี้สร้างจิตตานุภาพ อันนี้ให้อยู่ในกรอบศีลธรรม สร้างสติสร้างปัญญาขึ้น สร้างความเพียรขึ้น
สร้างความอดทนขึ้น ใส่ร่างกายอันนี้ ถึงว่าเรารัก เราต้องหาของดีมาใส่ อย่าหาของสกปรกของทำลายมาใส่ “อัตตาหิ ปะระมัง
ปิโย”
ตนนั้นแหละเป็นที่รักอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรที่รักยิ่งกว่าตน รักอย่างยิ่ง เมื่อเรารักอย่างยิ่ง
เราต้องรักษาไม่ให้ตกไปในหลุมที่ต่ำ ตกไปในเหวที่ต่ำ

เมื่อเราเป็นมนุษย์ เราก็รักษาสภาพความเป็นมนุษย์ ให้ดีขึ้น รักษาศีล ปฏิบัติธรรมะ ให้มีเมตตา กรุณา มุติตาจิต
อย่าให้เกิดความอิจฉาริษยา ความเบียดเบียน ถ้ามันเกิดขึ้นก็กำจัดด้วยอำนาจเมตตา เกิดอิจฉาริษยาขึ้น
เราก็กำจัดด้วยอำนาจเมตตา ก็กรุณาสงสารเขาถ้ามันตระหนี่เหนียวแน่นไม่อยากให้ ก็กำจัดด้วยการให้ ด้วยการแจกจ่าย
อยากสร้างตัวเองให้ดี สร้างกายให้ดี แทนที่จะรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ก็ไม่เอาจิตใจแทนที่จะสั่งสมธรรมะเมตตา กรุณา ศีลธรรม
ขันติ ความอดทน สติ ความระลึก ก่อนพูดก่อนไปก่อนมาก่อนขบก่อนฉัน สัมปชัญญะ ความรู้เสมอ
รู้ผิดรู้ถูกเตือนอยู่เสมอแทนที่จะสร้างอันนี้ขึ้นก็ไม่เอา เอาตามลำพังกิเลส ถ้าอะไรเกิดขึ้นมาในตา
ลูกทำไม่ดีผัวทำไม่ดี พี่ทำไม่ดีน้องทำไม่ดี ไม่ถูกใจ ไม่ถูกหู ก็เกิดขึ้นแล้ว อาละวาดขึ้นแล้ว
แน่ะ...ก็เรียกว่า เราไม่แก้ตัวเองเรา ไม่ได้ปลด ไม่ได้ลดละกิเลสเหล่านั้น ยังหวงแหนมันไว้อยู่ หลงมันอยู่
ตัวทำลายนี้อย่าหวงแหนมันไว้ ปล่อยมันเสียใครๆก็อยากดีด้วยกันทั้งนั้น
แต่มันทำไม่ถูกดีทำไม่ถูกดีก็เลยไม่ได้ดี ทำถูกดีอย่างพวกเรานี้แหละ มาปฏิบัติมารักษาศีลมาเจริญเมตตาภาวนา
ทำจิตให้เป็นสมถกรรมฐาน เรารู้เท่าทันสภาวธรรมต่างๆเท่าที่ตนจะรู้ได้ อันนี้เรียกว่าสร้างตัวเอง รักตัวเอง

เมื่อเรารักษาอย่างนี้ได้แล้ว ก็เอาของดีอันนี้ไปใช้ ไปถึงบ้านถึงเรื่องแม่พ่อพี่น้อง ให้เราเป็นบุคคล สัปปายะ สัปปายะ
หมายว่าเมื่อลูกผัวมองหน้าเมียเมียก็ยิ้มแย้ม ผัวก็ดีใจ ลูกเต้ามองดูยิ้มแย้ม ดีใจพูดจาไพเราะถูกอกถูกใจ
เป็นสัปปายะทั้งสองอย่าง เสียงก็เป็น สัปปายะ ผู้ฟังฟังแล้วก็สบายใจ รูปร่างก็เป็นสัปปายะ เมื่อดูแล้วก็ดีใจภูมิใจ
ถ้าอสัปปายะ ดูหน้าบูด ตาบึ้ง หน้ายักษ์หน้ามาร คนที่ดูก็ไม่สบายใจ เสียงพูดก็เสียดแทงหู
เหน็บแนมสิ่งที่เสียๆหายๆเสียงก็เป็นอสัปปายะ รูปก็เป็นอสัปปายะ ขาดมหาเสน่ห์ มหานิยมคนนั้น ผัวก็อยากหนีอยากทะเลาะ
ลูกก็อยากหนี ไม่อยากอยู่ อยากทะเลาะ ญาติพี่น้องก็ไม่ดูแล เพื่อนบ้านทั้งหลายที่อยู่ใกล้ๆ
ก็ไม่อยากคบค้าสมาคมมันไม่สบายใจ คบค้าสมาคม ก็ไม่สบายใจ ไม่ดีใจ หูฟังก็ไม่ไพเราะ เลยไม่อยากไปใกล้ มันเป็นอย่างนั้น
โยมเอ๋ย เราปฏิบัติก็เพื่อปฏิบัติตัวเอง รักษาตัวเอง ให้ตัวเองดีขึ้นให้งาม มันยังไม่งาม ก็ให้มันงาม
กายไม่ทันได้อ่อนหวานก็ให้มันอ่อนหวาน ปากไม่เคยยิ้มก็ให้มันยิ้ม ตาไม่เคยหวาน ก็ให้มันหวาน หน้าตาไม่เคยลดเคยอ่อน
ก็ให้มันลดมันอ่อนลง อย่าให้มันบูดบึ้ง เหมือนยักษ์หน้ามาร ไม่น่าดูชม คำพูดที่แข็งกระด้าง เคยเสียดแทงไม่เพราะหู
ก็พูดให้เพราะหู ป้าเอย แม่เฒ่าเอยตายายเอย ลูกเอย หลานเอย นี่มันม่วนหู ลูกก็อยากฟังพี่ น้องก็อยากฟัง เพื่อนฝูงก็รัก
ถ้าหากพูดผิดจากนี้ไป จะไม่มีคนรัก มีแต่คนเกลียดอย่างเราจะไปขายของ หาเงินหาทองมาใช้ในครอบครัว

เราเอาธรรมะนี้ไปใช้ กายให้งาม เห็นแขกก็หน้าตายิ้มแย้ม แจ่มใส การทำงานก็ไม่ลุกลี้ลุกลนการพูดการก็นิ่มนวล
แขกที่ต้องการซื้อสิ่งของของเราเมื่อเห็นเราอิ่มเอิบ ดีใจมันก็สบายใจ เมื่อฟังคำพูดแล้ว ก็สบายใจยิ่งขึ้นอีก
เงินทองในกระเป๋าที่มีอยู่ก็อยากชื้อหา คนนั้นเป็นคนมีมหาเสน่ห์
ขายของก็รวยแต่ถ้าคนหน้าตาบูดเบี้ยวพูดจาไม่ไพเราะเสนาะหู มีเงินในกระเป๋าก็ไม่อยากชื้อ
ทั้งๆที่ในร้านนั้นมีของดีๆน่าชื้อน่าหามากมาย แต่ต้องเลยไปชื้อร้านใหม่ ตรงที่ใหม่เสีย
คนนั้นเลยขายของไม่ได้หรือไม่ดี เมื่อขายไม่ได้ก็วิ่งหามหานิยม หาตะกรุด หาผ้ายันต์มหาเสน่ห์
มันบ่ได้หรอกเพราะมันไม่เป็นมหานิยม มหาเสน่ห์ ความจริงมหานิยม มหาเสน่ห์มันอยู่ในตัวเอง ถ้าตัวทำได้ทำถูกก็เป็นเอง
มหานิยมนั้นเป็นอย่างนั้น

การปฏิบัติธรรมะนี้ ถึงแม้เราไปหามรรคผลนิพพานไม่ถึง ไปไกลไม่ถึง แต่มันก็ถึงในมนุษย์สมบัติ
ให้ได้ให้เป็นให้งานก็ดีอยู่แล้ว ถ้าดีเลยขึ้นไปกว่านี้ เราไม่รู้ดอก เราไม่รู้ว่าจะไปสรรค์เมื่อใด
ถ้างามในมนุษย์มันจะไปเองทีนี้ ถ้าอยากไปอยากปรารถนาไปสวรรค์นิพพาน เมื่อใด ให้มีความสุขความเจริญในชาติหน้า
ตายไปแล้วอย่าได้มีทุกข์ให้ไปเกิดในที่สุคติโลกสวรรค์ผู้ให้พรก็ให้อยู่ แต่คนที่จะไปนั้นไม่รับ เพราะไม่มี
ไม่ได้สร้างสวรรค์ไว้มันก็ไปไม่ได้ ความละอายต่อบาป ความกลัวต่อบาป ความเคารพความคารวะต่อบุคคลและสถานที่ที่ควรยึด
ควรกระทำก็ไม่ทำกริยาวาจาก็ใช้อย่างเดิมไม่มีการแก้ไม่มีการปลด ไม่มีลดมีละเลย เคยอย่างใดก็เป็นอย่างนั้น

ถ้าเพื่อนฝูงพูดแนะนำก็บอก ว่าไม่รู้จัก หรือมันเคยอย่างนี้ตั้งแต่เกิดมาแล้ว มันเป็นอย่างนี้
รู้จักอยู่แล้วอย่างนี้ก็ตัวเองไม่ยอมแก้เสียแล้ว และถือทิฏฐิว่าตัวเองเคยเป็นอย่างนี้ เพื่อนก็รู้จักอยู่จะมาเอาอะไร
ถ้าพูดถึงผัวและเมีย ถ้าฝ่ายสามีพูดขึ้นมา ฝ่ายภรรยาก็ว่าพูดไม่เพราะเสนาะหู พูดเสียดแทงอกแทงใจ รู้จักอยู่แล้ว
มันเคยเป็นอย่างนี้ จะเอาอะไร ไม่ยอมแก้ไข้สันดานอันนั้น แก้บ้าง สิ่งที่ไม่ดี ก็แก้บ้างอันนี้หลวงปู่เคยได้ยิน
ผัวเมียพูดกัน หลวงปู่เคยได้ยินอยู่แก้เสียสิ่งที่ไม่ ดีแก้บ้าง เพราะเราก็อยากดี อยากเจริญ
หาเอาความเจริญมาใส่ในโลกนี้ ถ้าเราอยากไปพรหมโลก ไปเมืองพรหม เมืองอินทร์นั้นไปได้ ส่วนเมืองพรหมนั้นยังไม่ถึง
ต้องมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ธรรมทั้ง๔อย่างนี้ จึงเป็นพรหมได้ ถ้ามีแล้ว ได้แล้ว อยู่ในโลกก็เป็นพรหม
พรหมวิหาร วิหาร แปลว่า ที่อยู่ ที่อยู่อาศัยของใคร ที่อยู่ของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่คือพรหม ผู้มีเมตตา กรุณา มุทิตา
อุเบกขาธรรม พ่อแม่มีเมตตาต่อลูกต่อหลาน ครูอาจารย์มีเมตตา ต่อลูกศิษย์
คนเฒ่าคนแก่มีเมตตาต่อลูกหลานบ้านเหลนเมืองอันนี้แหละที่จะสร้างให้เป็นพรหมอันหนึ่ง
เป็นพรหม๔หน้าครั้นตายไปก็เป็นพรหม

อีกประการหนึ่งถ้าเราทำจิตใจให้เป็นสมถกรรมฐาน อย่างเราทำอย่างนี้ ไหว-นิ่ง อย่างอาจารย์พูดนี้ ให้จิตเป็นสมาธิ
ไหวก็รู้ไหว นิ่งก็รู้นิ่ง จิตเป็นสมาธิ ไหวก็รู้ไหว นิ่งก็รู้นิ่ง จิตเป็นสมาธิไม่ไปไหน สมาธิ สงบลงไปได้ฌานสมบัติ
การนึกหน่วง หน่วง เอาจิต ให้มันมาอยู่ในนี้ อยู่ในไหว-นิ่ง ไหว-นิ่ง อันนี้ท่านเรียกว่า วิตก

วิตก คือ ความหน่วงความตรึก และการพิจารณาเห็นด้วยปัญญา อันนี้มันเป็นวิปัสสนา ตัวนี้เป็นตัวสมถะได้ฌานตลอด
เป็นตัววิปัสสนาก็เรียก “วิจาร” วิจารในองค์ฌาน เมื่อวิจารเกิดขึ้นแล้ว รู้ว่าเจ้าของทำถูกแล้ว ไม่ผิด ดีใจ อิ่มใจ
อันนั้นเรียกว่า ปีติ ความอิ่มใจพอใจในลักษณะที่ตัวเองทำถูก ถ้าเกิดปีติแล้ว ความสุข ความสบายกาย
ความสบายใจก็เกิดขึ้น เบาหมด กายก็เบา ใจก็เบา อยู่ในองค์ฌานนี้ มันไม่เสื่อม ฌาน จิตก็เป็นหนึ่งเป็นเอกจิตอยู่
คนตายในขณะองค์ฌานนี้แหละ ไปเกิดในพรหมโลก อันนี้เราไม่ต้องการใช้ฌาน ถ้าคนไหนต้องการใช้ฌานให้มีอิทธิฤทธิ์
ก็ใช้กันตรงนี้ จะยึด เอาดิน เอาน้ำ เอาไฟ เอาลม มันเป็นอะไรอธิษฐานอะไร มันจะเป็นด้วยกำลังอธิษฐานด้วยจิตดีแล้ว
อธิษฐานเอา “วฉนวาสี” เรานึกหน่วงเร็ว “สัมปัตตะวาสี” เราเข้าก็เร็ว เข้าสมาธิ “อธิษฐานวาสี” จิตตั้งมั่นอยู่
มั่นคงอยู่ก็เร็ว และ “วุฏฐานวาสี” เราออกจากฌานก็ออกเร็ว ไม่ออกยาก ถ้าออกก็ไม่มีสติ เราลืมตาขึ้นเลย
ไม่เหมือนนอนฝันนอนตื่น “ปัจจเวกขณวาสี”

พิจารณาในรูป รูปลักษณะอันใดก็เร็ว ปัญญามันเฉียบแหลม เวลานั้นพิจารณาเร็ว พิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สภาวธรรมทั้งหลายก็รู้แจ้งแทงตลอด รู้เห็นเป็นจริงด้วยปัญญาตัวเอง เป็นอย่างนั้นหรอก ท่านจึงให้ใช้ตลอดเวลา
ให้ทำตลอดเวลา ทำได้อย่างนี้ ไปเกิดเป็นพรหม เทวดาก็ผ่าน อินทร์ก็ผ่าน ไปถึงพรหม ถ้ามันเสื่อม ฌานนี้มันก็เสื่อม
ก่อนที่ยังไม่ได้ออก ตายในขณะนั้น เป็นพรหมลูกฟักเป็นอย่างใด พรหมลูกฟักไปเกิดอยู่
คือนั่งอยู่ตายก็เกิดเป็นพรหมลูกฟักในท่านั่ง ถ้านอนตายก็เกิดพรหม ลูกฟักในท่านอน
ถ้ายืนตายก็เกิดเป็นพรหมลูกฟักในท่ายืน อยู่ในลักษณะนี้ตลอดไปจน หมดอายุขัย ชั่วกัปชั่วกัลป์
พี่น้องทั้งหลายอาจเป็นอยู่ไปอยู่ แต่ไม่รู้จักตัวมัน

ที่สุดนี้ ก็ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายเข้าใจ เวลายิ่งน้อยแล้ว ให้ใช้ความเพียรขะมักเขม้นเข้า อย่าเห็นแก่หลับนอน
นั่งสมาธิกำหนด พิจารณาอยู่ คือครูบาอาจารย์พูด ถ้านอน สมาธิจนหลับ ตื่นขึ้นมาก็กำหนดอีก รู้เห็นอะไร สัมผัสอะไร
ก็กำหนดอันนั้น อย่าลืม เวลายิ่งเหลือน้อยแล้ว ยังเหลืออยู่ ๑ คืน กับอีก ๑ วัน ที่เราจะต้องประกอบความเพียร
เวลาวันคืนก็ล่วงไป ชีวิตความเป็นอยู่ของเราก็ล่วงไป กาลเวลาก็หมดไปเท่าใด ชีวิตความเป็นอยู่ของเรา ก็หมดไปเท่านั้น
ดังนั้น การปฏิบัติธรรมให้สมกับเวลาที่ล่วงไป อย่าให้มันล่วงไปเสียเปล่า เวลาล่วงไปก็ทำประโยชน์ให้เกิดตามเวลานั้น ๆ
จึงสมกับคำว่า เราเป็นนักปฏิบัติ เราปฏิบัติตั้งแต่วันที่ ๒๖ ถึงวันนี้เป็นวันที่ ๘ แล้ว เป็นเดือนใหม่ ก็คงจะรู้
อะไรหลาย ๆ อย่าง

การรู้ ให้รู้ตัวเอง รู้จิตใจของตัวเอง รู้ความประพฤติของตัวเอง ถูกต้องแล้วหรือ หรือยังไม่ถูกต้อง
ถ้ายังไม่ถูกก็แก้ไขให้มันถูก จิตใจของเราเป็นไทไม่เป็นทาส เป็นไทจาก กิเลส ถ้าหากว่ากิเลสยังครอบอยู่ ความโลภ ความโกรธ
ความหลง ทิฎฐิมานะ วิจิกิจฉา ความสงสัย สีลัพตปรามาส การถือศีลพรตต่าง ๆ ยังมีอยู่ในใจ ก็เรียกว่าใจยังเป็นทาส
ยังเก็บยังดึง ไม่วางกิเลส การมาปฏิบัติธรรม เพื่อละทิ้งกิเลสให้มันน้อยลง ถ้ามันมากก็ให้น้อยลง
ถ้ามันน้อยอยู่แล้วก็ให้มันน้อย หรือเหลือน้อยที่สุด หมดไปเลย เพื่อแสวงหาความพ้นทุกข์
ถ้าเราละทิ้งสิ่งเหล่านี้ได้แล้ว โอกาสพ้นทุกข์ก็เกิดมีแก่เรา นี่เราเกิดมาเป็นทุกข์ ทรมาน ร่างกายและจิตใจตลอดเวลา
ความทุกข์ก็คือความไม่สบาย ความทนได้ยากลำบากใจ ทุกข์ใจคับแค้นใจ อันนี้เรียกว่าทุกข์ทั้งนั้น

ตราบใดที่เรายังยึดสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นอยู่ ยึดอารมณ์อยู่ อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายก็ยึดอยู่
ดีก็ยึด ชั่วก็ยึด ของที่ไม่ดีก็ไม่ละ ไม่เลิกยึดถือเป็นอุปาทานอยู่ ตัวนั้นแหละเป็นตัวทำให้เราเกิดทุกข์
มันเป็นตัวที่ไม่ดีตัวดีนั้นคือเราวาง เราวางนั้นแหละคือดีที่สุด ถ้าเราละเราปล่อยของที่หนัก เราก็เบา
ของที่มันหนักมันยากก็วางไว้ ของที่เหนียวที่หนืดก็ล้างได้ อุปมาเหมือนกับเราแบกหามของหนัก ๆ

ถ้ามันหนักเดินไปก็วาง วางแล้วความหนักก็หายไป ถ้ามันหนักเท่าใดยิ่งแบก ยิ่งหาม มันก็ยิ่งหนักขึ้น
ของที่มันติดมันเหนียว ก็คือตัวกิเลสทั้งหลาย ตัวตัณหามันเหนียว มันเป็นยาง เราพยายามล้างพยายามละ
เช็ดถูให้ออกจากร่างกายของเรา ของเหนียวก็ออกได้ อันนี้เช่นเดียวกัน ค่อยฟอก ค่อยชักล้าง ค่อยพิจารณา
ค่อยแกะออกจากจิตใจของเรา ผลสุดท้าย จิตใจของเราก็สะอาดขึ้น แจ่มใสขึ้น สว่างไสวขึ้น รุ่งโรจน์ขึ้น
ตราบใดที่เรายังพยายามอยู่ ถึงแม้กิเลสมันจะมี ถ้าเราพยายามลดละ มันก็คงเหลือน้อยลงไป ถึงแม้มีก็น้อยลงไปในเขตจำกัด
หากินทางชอบของถูกไม่ผิดศีลธรรม กฎหมายบ้านเมืองก็ดีแล้ว ถ้าหากว่าเรามาปฏิบัติธรรม เรามาปฏิบัติในวัด เราหนีจากวัด
เราก็ทิ้งเสีย วางไว้ในวัดหมด อันนี้ เท่ากับเราไม่ปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติแล้ว เรารู้อย่างไร ครูบาอาจารย์เคยบอกอย่างไร
เคยสอนอย่างไร เคยแนะนำเราอย่างไร

เราจำไว้ นำไปตักเตือนตัวเองต่อไป นำไปปฏิบัติต่อไป ปฏิบัติได้แล้ว เตือนลูกเตือนหลาน เตือนญาติพี่น้องให้ดีขึ้น
อันนี้จึงเรียกว่าเป็น นักแสวงธรรม นักใคร่ธรรมต่อไปนี้ เป็นการสอนอารมณ์ เวลามันน้อยแล้ว
สอนให้รู้จักว่าเรามาปฏิบัติ ได้อะไรกันแน่ เกิดอะไร รู้อะไร เห็นอะไร ครูบาอาจารย์จะถามว่าอะไรมันเกิดขึ้น
เมื่อคืนนี้เกิดอะไร ถ้าเราตอบถูกก็เรียกว่าเราปฏิบัติ เราพิจารณาอยู่ ถ้าตอบว่าไม่มีอะไรเกิด ก็แสดงว่าเราเมินเฉย
เราไม่ปฏิบัติ เราก็อยู่เฉย ๆ เราไม่รู้อะไรเลย ใจตัวเอง ตัวเองแท้ ๆ มันเป็นอยู่ หมุนอยู่ก็ไม่รู้ ก็แสดงว่าไม่ได้ปฏิบัติ
ไม่ได้พิจารณา เอ้า ...

ขอถามหลวงพ่อที่มาจากพิบูลมังสาหารทั้ง ๒ องค์ก่อน

หลวงปู่ เมื่อคืนนี้เกิดอะไร หลวงพ่อองค์แรก

หลวงพ่อ (๑) ไม่เกิดครับ...... สบาย.....

หลวงปู่ นี่แหละ... มันเกิดขึ้นแล้ว มันเกิดสุขเวทนา ถ้ามันเกิดสบายใจ เป็นสุขเวทนา ถ้ามันเฉย ๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์
ใจมันไม่สบาย หรือไม่สบายก็ไม่รู้ อันนี้เรียกว่า อุเบกขาเวทนาขันธ์เกิด จะว่าไม่เกิดไม่ได้ เอ้า... หลวงพ่อองค์ต่อไป !

หลวงพ่อ (๒) เกิดรูป

หลวงปู่ รูปในหรือรูปนอก

หลวงพ่อ รูปนอก

หลวงปู่ รูปคนเดินไปมา หรือ นก หนู

หลวงพ่อ รูปคนยืนขึ้น

หลวงปู่ ยืนขึ้น... โอ้.. !...! อันนี้เขาเรียกว่ารูปใน นั่งอยู่ใช่ไหม

หลวงพ่อ นั่งอยู่ครับ

หลวงปู่ นั่นแหละ..รูปใน เกิดในสมาธิ เกิดภายในสมาธิ ถ้าหากว่าเราไม่ได้นั่งสมาธิ เรามองเห็น อันนี้เรียกว่ารูปนอก
ถ้าเห็นในสมาธิก็เรียกว่ารูปใน รูปเกิด หลวงพ่อกำหนดอย่างไร

หลวงพ่อ กำหนดรูปคับ

หลวงปู่ หายไหม

หลวงพ่อ หายครับ

หลวงปู่ นั่นแหละกำหนดรู้ทันแล้ว อุทิศส่วนกุศลด้วยดีแล้ว

มันเห็นอย่างนี้

ดีแล้ว เรียกว่ามีจิตในสมาธิ เอ้า..องค์ที่ ๓ ต่อไป

หลวงพ่อ (๓) เวทนาเกิด...เกิดทุกขเวทนา

หลวงปู่ กำหนดหายไหมหลวงพ่อ

หลวงพ่อ ไม่หายครับ

หลวงปู่ ไม่หาย...ถ้ากำหนดแล้วยังไม่หาย เรียกว่าไม่ถอนจิตออก ยังจับมันอยู่ ยังดึงมันอยู่ ยังมีอุปาทานอยู่
ถ้ากำหนดว่าทุกขเวทนา

เรากำหนดได้ เราถอนจิตออกหมด อย่าไปจับไปดึงมัน มันจะหายเอง ถ้ายังไม่หาย ให้ละให้วาง ถ้าวางจะหาย

หลวงปู่ เอา...องค์ต่อไป อะไรเกิด

หลวงพ่อ (๔) ตัวลอยขึ้น

หลวงปู่ นั่นแหละเกิดปีติ ปีติเรียกว่า อุพเพคาปีติ ปีติโลดโผน อันนั้นอย่าไปดีใจ เป็นตัวปีติเฉย ๆ ดอก
ไม่ได้ลอยไปไหนหรอก นั่งอยู่นั้นแหละบางคนเข้าใจว่า ตัวเองลอยได้ จะไปกระโดดภูเขา กระโดดต้นไม้ ไม่ได้นะ !
ในการปฏิบัติธรรม เมื่อมีสุข หรือทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี มิใช่เรา ไม่ใช่ของเขา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา
เป็นเพียง เวทนาเท่านั้น ยึดไม่ได้ ให้ปล่อยไป ให้พวกเราพยายามเก็บกำคุณภาพที่เราปฏิบัติเราได้เท่าใด
ให้นำไปใช้อย่าละทิ้งไปเสีย เอาไปแก้ตัว เอาไปในตัวเอง เอาไปปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ เรายังมีโอกาสปรับปรุงอยู่ เรายังไม่จบ
ถ้าจบแล้วอย่างอรหันต์นั้นน่ะ ไม่ต้องปรับปรุง เรายังเป็นสามัญชนอยู่ ปุถุชนอยู่ หรือวิญญูชนอยู่ เมธีชนก็ดี
ก็ยังติดในอารมณ์

อันนี้เอาไปปรับปรุงอยู่เรื่อย ๆ ถ้าไม่แก้มันจะติดมันจะเป็นดินฟอกหางหมู พอกเข้า ๆ ก็มืดมิดปิดปัญญา
อวิชชาหุ้มหมด อวิชชานี้ “โหตาโกสา” คนเป็นอันมาก อวิชชาหุ้มห่อไว้ อวิชชาคือ ความบ่รู้บ่แจ้ง บ่รู้ความจริง
อันนี้เรียกว่า อวิชชา แต่มันรู้อยู่ รู้ทางผิดรู้ทางมืดทางบอด มันรู้อยู่ แต่ว่าทางแจ้ง ทางสะอาด ทางสว่าง ทางใส
มันบ่รู้ ถ้ามันปิดแล้ว เราก็ไม่รู้อะไรเลยแหละ คือดินฟอกหางหมู เรามองหางหมูก็บ่เป็น
บ่เห็นตัวหมู ลูกหมูเพราะดินถม

ในเมื่ออวิชชาปิดปัญญาแล้ว ปัญญาก็ไม่มี จะอาศัยเราฟังทางนอก เข้าไปสัมผัสเข้าไป ก็ไม่ทะลุเข้าไป เพราะมันปิด
คือนายประตูปิดไว้ คนข้างนอกจะเข้าไปก็ไม่ได้ คนข้างในจะออกมาก็บ่ได้ ไม่ได้สัมผัสกับคนสองพวกนี้
อันนี้ปัญญาข้างในก็ออกมารับไม่ได้ เพราะอวิชชากันไว้เสียแล้ว ปัญญาของเรามันมีอยู่คล้าย ๆ
กับสีสะท้อนแสงที่ติดไว้ตามเสาข้างถนนนั้น สีสะท้อนแสงนั้นถ้าหากว่าแสงไฟไม่กระทบ แสงไฟรถยนต์ มอเตอร์ไซด์ไม่ไปกระทบ
มันก็ไม่ออกแสง ถ้าแสงไฟเข้าไปก็สว่างขึ้นมาโลด สัมผัสกันโลด อันปัญญาทางในของเราก็เหมือนกัน ถ้าปัญญาทางนอก
เข้าไปสัมผัสไม่ได้ปัญญาภายในก็จะไม่เกิด ความรู้แจ้งจะไม่มี เพราะอวิชชาหุ้มห่อไว้ เพราะฉะนั้น จึงพยายามแกะล้าง
เอาปัญญามาจากข้างในด้วยการปฏิบัติให้มันแจ้ง มันไข (เปิด) ออกมันปิดก็ให้มันลอดออก เราฟังครูบาอาจารย์เข้าใจแล้ว
เพราะมันสัมผัสกันแล้วก็เข้าใจง่าย จำง่าย รู้ง่าย ถ้าอวิชชาปิดอยู่ก็จะรู้ไม่ได้ ไม้ได้เข้าถึงข้างใน
ปัญญาตัวนั้นมันออกมารับ เปรียบดังสีสะท้อนแสง ถ้าเราเอาไฟธรรมดาส่องไป มันจะสะท้อน ถ้าแสงไฟรถ แสงไฟฟ้า
รับกันทันทีเลยเด้อ ! จำไว้ ให้จำไว้ เอ้า...หมดเท่านี้เด้อ ! .....

 


ประวัติ พระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ)
วัดธาตุมหาชัย ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม
๑.ชาติกำเนิด ๔.กำเนิดวัดป่ามหาชัย ๗.สัจจะแห่งชีวิต ๑๐.นิมิตประหลาด ๑๓.ผจญภัย
๒.สร้างธาตุมหาชัย ๕.การเผยแผ่ ๘.ความพลัดพราก ๑๑.หลงในรู้ ๑๔.กำหนดรู้
๓.พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ๖.ปริศนาธรรม ๙.ธรรมโอสถ ๑๒.ชื่อมหาชัย ๑๕.พระบรมครู

ธรรมะคำสอน หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ
อารมณ์กรรมฐาน ทางเดินของจิต การแสวงหาตน นักปราชญ์ของจิต ทาง ๗ สาย ธรรมะของหลวงปู่(๒)
กายสังขาร-จิตสังขาร เบญจขันธ์เป็นของหนัก เหตุให้ถึงธรรม อนัตตาเบญจขันธ์ เกร็ดธรรมะ
กลับสู่หน้าหลัก