อนุพุทธประวัติ

โกณฑัญญะพราหมณ์ ทำนายพระลักษณะเจ้าชายสิทธัตถะ

ประวัติแห่งพระอัญญาโกณฑัญญเถระ

สถานะเดิม
ดังได้สดับมา พระอัญญาโกณฑัญญะนั้น ได้เกิดในสกุล
พราหมณ์มหาศาล ในบ้านพราหมณ์ชื่อโทณวัตถุ ไม่ห่างจากกบิลวัตถุนคร
มีชื่อว่า โกณฑัญญะ เจริญวัยขึ้น ได้เรียนจบไตรเพท
และรู้ลักษณะมนตร์ คือ ตำราทายลักษณะ

ทำนายพระลักษณะ

ในคราวที่สมเด็จพระบรมศาสดาประสูติใหม่ พระเจ้าสุทโธทนะ
ตรัสให้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนมาเลี้ยงโภชนาหาร ในการทำพิธีทำนาย
ลักษณะตามราชประเพณีแล้วเลือกพราหมณ์ ๘ คน จากพวกนั้นเป็นผู้ตรวจ
และทำนายลักษณะ.

ครั้งนั้น โกณฑัญญพราหมณ์ยังเป็นหนุ่ม ได้รับเชิญไปในงานเลี้ยงด้วย
ทั้งได้รับเลือกเข้าในพวกพราหมณ์ ๘ คน ผู้ตรวจและทำนายพระลักษณะ
เป็นผู้อ่อนอายุกว่าเพื่อน. พราหมณ์ ๘ คนนั้น ตรวจลักษณะแล้ว ๗ คน
ทำนายคติแห่งพระมหาบุรุษเป็น ๒ ทางว่า ถ้าทรงดำรงฆราวาส จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
ถ้าเสด็จออกผนวช จักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ส่วนโกณฑัญญพราหมณ์เห็นแน่แก่ใจแล้ว จึงทำนายเฉพาะทางเดียวว่า
จักเสด็จออกผนวช แล้วได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแน่.
ตั้งแต่นั้นมา ได้ตั้งใจว่า เมื่อถึงคราวเป็นอย่างนั้นขึ้นและตนยังมีชีวิตอยู่
จักออกบวชตามเสด็จ.

มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

ครั้นเมื่อพระมหาบุรุษเสด็จออกผนวชแล้ว กำลังทรงบำเพ็ญ ทุกรกิริยาอยู่
โกณฑัญญพราหมณ์ทราบข่าวแล้ว ชวนพราหมณ์ ผู้เป็นบุตรของพราหมณ์
ผู้ตรวจทำนายลักษณะในครั้งนั้น และทำ กาลกิริยาแล้ว ได้ ๔ คน
คือ ภัททิยะ ๑ วัปปะ ๑ มหานามะ ๑อัสสชิ ๑ เป็น ๕ คนด้วยกัน
ออกบวชเป็นบรรพชิต จำพวกภิกษุติดตามพระมหาบุรุษไปอยู่ที่ใกล้
เฝ้าอุปัฏฐากอยู่ด้วยหวังว่า ท่านตรัสรู้แล้ว จักทรงเทศนาโปรด.
ภิกษุ ๕ รูปสำรับนี้ เรียกว่า ปัญจวัคคีย์ แปลว่าเนื่องในพวก ๕ เฝ้าอุปัฏฐาก
พระมหาบุรุษอยู่ ตลอดเวลาทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาคณนาว่า ๖ ปี.

ครั้นพระมหาบุรุษ ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาเต็มที่แล้ว ทรงลงสันนิษฐานว่า
มิใช่ทางพระโพธิญาณ ทรงใคร่จะเปลี่ยนตั้งปธานในจิต จึงทรงเลิกทุกรกิริยา
นั้นเสีย กลับเสวยพระกระยาหารแค่นทวีขึ้น เพื่อบำรุงพระกายให้
มีพระกำลังคืนมา พวกปัญจวัคคีย์สำคัญว่าทรงท้อแท้ต่อการบำเพ็ญ
พรตอันเข้มงวด หันมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว สิ้นเลื่อมใส
สิ้นหวังแล้ว เกิดเบื่อหน่ายขึ้น ร่วมใจกันละพระมหาบุรุษเสีย ไป
อยู่ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน แขวงนครพาราณสี.

พระคันถรจนาจารย์แก้ข้อความนี้ว่า ธรรมดานิยมให้ภิกษุ
ปัญจวัคคีย์มาพบ และอุปัฏฐากพระมหาบุรุษในเวลากำลังทรงบำเพ็ญ
ทุกรกิริยา เพื่อจะได้เป็นผู้รู้เห็น เมื่อถึงคราวทรงแสดงพระธรรมเทศนา
คัดค้านอัตตกิลมถานุโยค จะได้เป็นพยานว่า พระองค์ได้เคยทรงทำมาแล้ว
หาสำเร็จประโยชน์จริงไม่ ครั้นถึงคราวต้องการด้วยวิเวก บันดาลให้สิ้นภักดี
พากันหลีกไปเสีย.

ฝ่ายพระมหาบุรุษ ทรงบำรุงพระกายมีพระกำลังขึ้นแล้ว ทรงตั้งปธานในทางจิต
ทรงบรรลุฌาน ๔ วิชชา ๓ ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ทรงวิมุตติจากสรรพกิเลสาสวะบริสุทธิ์
ล่วงส่วน ทรงเสวยวิมุตติสุขพอควรแก่กาลแล้ว อันกำลังพระมหากรุณาเตือนพระหฤทัย
ใคร่จะทรงเผื่อแผ่สุขนั้นแก่ผู้อื่น ทรงเลือกเวหาไนยผู้มีปัญญาสามารถพอจะ

รู้ธรรมอันสุขุมคัมภีรภาพเห็นปานนั้น ในชั้นต้น ทรงพระปรารภถึง อาฬารดาบส
กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร อันพระองค์
เคยไปสำนักอยู่เพื่อศึกษาลัทธิของท่าน แต่เผอิญสิ้นชีวิตเสียก่อนแล้วทั้ง ๒ องค์

ในลำดับนั้น ทรงพระปรารภถึงภิกษุปัญจวัคคีย์ผู้เคยอุปัฏฐากพระองค์มา
ทรงสันนิษฐานว่าจักทรงแสดงประถมเทศนาแก่เธอ ครั้นทรงพระพุทธดำริอย่างนี้แล้ว
เสด็จพระพุทธดำเนินจาก บริเวณพระมหาโพธิ ไปสู่อิสิปตนมฤคทายวัน.

ปัญจวัคคีย์หลีกหนี

ฝ่ายพวกภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้เห็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เสด็จมาแต่ไกล เข้าใจว่าเสด็จตามมาด้วยปรารถนาจะหาผู้อุปัฏฐาก
เนื่องจากความเป็นผู้มักมากนั้น นัดหมายกันว่า จักไม่ลุกขึ้นรับ
จักไม่รับบาตรจีวร จักไม่ไหว้ แต่จักตั้งอาสนะไว้ ถ้าพระองค์ ปรารถนา จะได้ประทับ.

ครั้นพระองค์เสด็จเข้าไปใกล้ อันความเคารพที่เคยมา บันดาลให้ลืม
การนัดหมายกันไว้นั้นเสีย พร้อมกันลุกขึ้นต้อนรับและทำสามีจิกรรมดังเคยมา
แต่ยังทำกิริยากระด้างกระเดื่อง พูดกับพระองค์ด้วยถ้อยคำตีเสมอ พูดออกพระนาม
และใช้คำว่า อาวุโส. พระองค์ตรัสบอกว่า ได้ทรงบรรลุอมฤตธรรมแล้ว
จักทรงแสดงให้ฟัง ตั้งใจปฏิบัติตามแล้ว ไม่ช้าก็บรรลุธรรมนั้นบ้าง.
เธอทั้งหลายกล่าวค้านว่า แม้ด้วยการประพฤติทุกรกิริยาอย่างเข้มงวด
พระองค์ยังไม่อาจบรรลุอมฤตธรรม ครั้นคลายความเพียรเสียแล้ว
กลับประพฤติเพื่อความมักมาก ไฉนจะบรรลุธรรมนั้นได้เล่า.

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเตือน พวกภิกษุปัญจวัคคีย์
พูดคัดค้าน โต้ตอบกันอย่างนั้นถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง. พระองค์ตรัสเตือน
ให้เธอทั้งหลายตามระลึกในหนหลังว่า ท่านทั้งหลายจำได้หรือ วาจาเช่นนี้
เราได้เคยพูดแล้วในปางก่อนแต่กาลนี้ ?

พวกภิกษุปัญจวัคคีย์นึกขึ้นได้ว่า พระวาจาเช่นนี้ไม่เคยได้ตรัสเลย จึงมีความสำคัญใน
อันจะฟังพระองค์ทรงแสดงธรรม . สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้ตรัสพระธรรมเทศนาเป็นประถม ประกาศพระสัมมาสัมโพธิญาณแก่

พวกปัญจวัคคีย์ ในเบื้องต้น ทรงยกส่วนสุด ๒ อย่าง คือ กามสุขัลลิกานุโยค
คือ การประกอบตนให้พัวพันด้วยสุขในกามอันเป็นส่วนสุดข้างหย่อน ๑
อัตตกิลมถานุโยค คือ การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตนเปล่า อันเป็นส่วนสุดข้างตึง ๑
ขึ้นแสดงว่า อันบรรพชิตไม่พึงเสพ ในลำดับนั้น ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา
คือปฏิบัติเป็นสายกลาง ไม่ข้องแวะด้วยส่วนสุดทั้ง ๒ นั้น อันมีองค์ ๘ คือ

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ๑ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ๑ สัมมาวาจา เจรจาชอบ
๑ สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ ๑ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ สัมมาวายามะ
เพียรชอบ ๑ สัมมาสติระลึกชอบ ๑ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ๑.

ในลำดับนั้น ทรงแสดง อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ ๑ สมุทัย เหตุยังทุกข์ให้เกิด ๑
ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ๑ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ๑
ทุกข์ทรงยกสภาวทุกข์และเจตสิกทุกข์ขึ้นแสดง ทุกขสมุทัย

ทรงยกตัณหามีประเภท ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหาวิภวตัณหา ขึ้นแสดง ทุกขนิโรธ
ทรงยกความดับสิ้นเชิงแห่งตัณหานั้นขึ้นแสดง ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
ทรงยกอริยมรรคมี องค์ ๘ คือ มัชฌิมาปฏิปทานั้นขึ้นแสดง.

ในลำดับนั้น ทรงแสดงพระญาณของพระองค์อันเป็นไปในอริยสัจ ๔ นั้น
อย่างละ ๓ ๆ คือ สัจจญาณ ได้แก่รู้อริยสัจ ๔ นั้น ๑ กิจจญาณ ได้แก่รู้กิจ อันจะพึงทำ
เฉพาะอริยสัจนั้น ๆ ๑ กตญาณ ได้แก่รู้ว่ากิจอย่างนั้น ๆ ได้ทำเสร็จแล้ว ๑ พระญาณทัสสนะ
มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ ยังไม่บริสุทธิ์เพียงใด ยังทรงปฏิญญาพระองค์

ว่าตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณไม่ได้เพียงนั้น ต่อบริสุทธิ์แล้ว
จึงทรงอาจปฏิญญาพระองค์อย่างนั้น ในที่สุด ทรงแสดงผลแห่ง การตรัสรู้อริยสัจ ๔ นั้น เกิดพระญาณ
เป็นเครื่องเห็นว่าวิมุตติ คือความพ้นจากกิเลสอาสวะของพระองค์ไม่กลับกำเริบ
ความเกิดครั้งนี้ เป็นครั้งที่สุด ต่อนี้ไม่มีความเกิดอีก.


บรรลุโสตาปัตติผล

พระธรรมเทศนานี้ พระคันถรจนาจารย์เรียกว่า พระธรรม-
จักกัปปวัตนสูตร ๑ โดยอธิบายว่า ประกาศศพระสัมมาสัมโพธิญาณ-
(๑ . มหาวคฺค. ๔/ ๑๗ มหาวาร. ๑๙/ ๕๒๘. )

เทียบด้วยจักรรัตนะ ประกาศความเป็นจักรพรรดิราช.
เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังตรัสพระธรรมเทศนาอยู่
ธรรมจักษุคือดวงตาคือปัญญาอันเห็นธรรมปราศจากธุลีมลทิน ได้เกิด
ขึ้นแก่ท่านโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา. ท่านผู้ได้ธรรมจักษุ พระ
อรรถกถาจารย์กล่าวว่าเป็นพระโสดาบัน โดยนัยนี้ ธรรมจักษุได้แก่
พระโสดาปัตติมรรค . ท่านโกณฑัญญะได้บรรลุโลกุตตรธรรมเป็น
ประถมสาวก เป็นพยานความตรัสรู้ของพระศาสดา เป็นอันว่า ทรง
ยังความเป็นสัมมาสัมพุทธให้สำเร็จบริบูรณ์ ด้วยเทศนาโปรดให้
ผู้อื่นรู้ตามได้ด้วยอย่างหนึ่ง .

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ท่านโกณฑัญญะ
ได้เห็นธรรมแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานว่า
อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ
อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ แปลว่า
โกณทัญญะได้รู้แล้วหนอ ๆ เพราะอาศัยพระอุทานว่า อญฺญาสิ
ที่แปลว่า ได้รู้แล้ว คำว่า อญฺญาโกณฺฑญฺโญจึงได้เป็นนามของ ท่านตั้งแต่กาลนั้นมา
.
พระสงฆ์รูปแรก

ท่านอัญญาโกณฑัญญะ ได้เห็นธรรมแล้ว ได้ความเชื่อใน
พระศาสดามั่นคงไม่คลอนแคลน ได้ทูลขออุปสมบทในพระธรรม-
วินัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงรับด้วยพระวาจา
ว่า มาเถิดภิกษุ ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์
เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด . พระวาจานั้นย่อมให้สำเร็จอุปสมบท
ของท่าน . ด้วยว่าในครั้งนั้น ยังมิได้ทรงพระอนุญาตวิธีอุปสมบท
อย่างอื่น ทรงพระอนุญาตแก่ผู้ใด ด้วยพระวาจาเช่นนั้น ผู้นั้นย่อม
เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้. อุปสมบทอย่างนี้ เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา
ผู้ได้รับพระพุทธานุญาตเป็นภิกษุด้วยพระวาจาเช่นนี้ เรียกว่า เอหิภิกขุ.

ทรงรับท่านอัญญาโกณฑัญญะเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาด้วยพระวาจาเช่นนั้นเป็นครั้งแรก .
จำเดิมแต่กาลนั้นมา ทรงสั่งสอนท่านทั้ง ๔ ที่เหลือนั้น ด้วยพระธรรมเทศนาเบ็ดเตล็ดตาม
สมควรแก่อัธยาศัย . ท่านวัปปะและท่านภัททิยะได้ธรรมจักษุแล้ว
ทูลขออุปสมบท พระศาสดาทรงรับเป็นภิกษุ ด้วยพระวาจาเช่นเดียวกัน .

ครั้งนั้น พระสาวกทั้ง ๓ เที่ยวบิณฑบาต นำอาหารมาเลี้ยงกัน
ทั้ง ๖ องค์ . ภายหลังท่านมหานามะและท่านอัสสชิได้ธรรมจักษุแล้ว
ทูลขออุปสมบท ทรงรับโดยนัยนั้น.

การบรรลุพระอรหัตตผล

ครั้นภิกษุปัญจวัคคีย์ได้เห็นธรรม และได้อุปสมบทเป็นสาวก
ทั่วกันแล้ว สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนา เป็นทาง
อบรมวิปัสสนา เพื่อวิมุตติอันเป็นผลที่สุดแห่งพรหมจรรย์อีกวาระหนึ่ง
ทรงแสดงปัญจขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ว่าเป็นอนัตตา มิใช่ตน หากปัญจขันธ์นี้จักเป็นอัตตาเป็นตนแล้วไซร้
ปัญจขันธ์นี้ ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และจะพึงได้ในปัญจขันธ์นี้ว่า
ขอจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย เพราะเหตุปัญจขันธ์
เป็นอนัตตา จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และย่อมไม่ได้ตามปรารถนาอย่าง
นั้น ในลำดับนั้น ตรัสถามนำให้ตริเห็นแล้ว ปฏิญญาว่า ปัญจขันธ์

นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา โดยเนื่องเหตุกันมาเป็นลำดับ
แล้วทรงแนะนำให้ละความถือมั่นในปัญจขันธ์ ทั้งที่เป็นอดีต
อนาคตปัจจุบัน ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก ทั้งที่หยาบ ทั้งที่ละเอียด
ทั้งที่เลว ทั้งที่ดี ทั้งที่อยู่ห่าง ทั้งที่อยู่ใกล้ ว่านั่นมิใช่ของเรา นั่นมิใช่
เรา นั่นมิใช่ตัวของเรา ในที่สุดทรงแสดงอานิสงส์ว่า อริยสาวก
ผู้ได้ฟังแล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปัญจขันธ์ ย่อมปราศจากความกำหนัด
รักใคร่ จิตย่อมพ้นจากความถือมั่น มีญาณรู้ว่าพ้นแล้ว รู้ชัดว่า
ความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้ประพฤติจบแล้ว กิจที่ควรทำได้
ทำเสร็จแล้ว ไม่ต้องทำกิจอย่างอื่นอีก เพื่อบรรลุผลอันเป็นที่สุดแห่ง พรหมจรรย์ .

พระธรรมเทศนานี้ แสดงลักษณะเครื่องกำหนดปัญจขันธ์ว่าเป็น
อนัตตา พระคันถรจนาจารย์จึงเรียกว่า อนัตตลักขณสูตร. ๑
เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดา ตรัสพระธรรมเทศนาอยู่ จิตของ
ภิกษุปัญจวัคคีย์ ผู้พิจารณาภูมิธรรมตามกระแสพระธรรมเทศนานั้น
พ้นแล้วจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน. ท่านทั้ง ๕ ได้เป็นพระ
อรหันตขีณาสพ ประพฤติจบพรหมจรรย์ ในพระธรรมวินัยนี้ เป็น
สังฆรัตนะจำพวกแรก เป็นที่เต็มแห่งพระไตรรัตน์ ประกาศสัมมา
สัมพุทธภาพแห่งพระศาสดาให้ปรากฏ . ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ทั้ง
สมเด็จพระสุคตด้วยเพียง ๖ พระองค์ .

ตามอรรถกถา สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสพระธรรมจักกัปป-
วัตตนสูตร ๒ ยังพระอัญญาโกณฑัญญะให้ตั้งในพระโสดาปัตติผล

(๑ . มหาวคฺค ๔/ ๒๔. สํ. ขนฺธ. ๑๗/ ๘๒. ๒. สมนฺต. ตติย. ๑๙ ป. สู. ทุติย. ๒๕๙. )

เมื่อวันเพ็ญแห่งอาสาฬหมาส ตรัสเทศนาอนัตตลักขณสูตร ยังพระปัญจวัคคีย์
ครบทั้ง ๕ ให้ตั้งในพระอรหัตตผล เมื่อดิถีที่ ๕ แห่งกาฬปักข์เป็นลำดับมา
( ที่ในครั้งนั้น นับเป็นต้นแห่งสาวนมาส) โดยนัยนี้ ระยะกาลที่ทรงสั่งสอน
ท่านทั้ง ๔ ให้ตั้งในพระโสดาปัตติผล ๔ วันในระหว่างนั้น.

เมื่อยสกุลบุตรกับสหายที่มีชื่อ ๔ คน และสหายที่ไม่มีชื่อ ๕๐ คน
ได้มาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ และได้บรรลุพระอรหัตแล้ว มี
พระอรหันต์ ๖๑ พระองค์ พระศาสดาทรงประชุมพระสาวก ตรัสให้
เกิดอุตสาหะในอันเที่ยวจาริกสั่งสอนมหาชน ให้เห็นธรรมและตั้งอยู่
ในสัมมาปฏิบัติ อันเป็นปัจจัยแห่งความสุขความสงบแล้ว ทรงส่ง
ให้เที่ยวกระจายกันไปในทิศานุทิศ ส่วนพระองค์ก็จักเสด็จไปสู่มคธรัฐ.

งานประกาศศาสนา

ครั้งนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์รับพระพุทธาณัติแล้ว ต่างแยกกัน
เที่ยวจาริก เพื่อสั่งสอนธรรมในต่างถิ่น กลับมาเฝ้าพระศาสดาโดย
กาล . คราวหนึ่ง พระอัสสชิกลับจากจาริก มาสู่กรุงราชคฤห์เพื่อเฝ้า
พระศาสดา . พระสารีบุตร ครั้งยังบวชเป็นปริพาชกได้พบ เลื่อมใส
ในมรรยาทอันสงบของท่าน ได้ขอให้ท่านแสดงธรรม ท่านแสดง
หัวใจพระศาสนา คือ การกำหนดเหตุและผลทั้งข้างเกิดข้างดับ . พระ
สารีบุตรได้ฟังธรรมจักษุแล้ว จึงชวนพระโมคคัลลานะผู้สหายซึ่งบวช
เป็นปริพาชกอยู่ในสำนักเดียวกัน มาสู่พระธรรมวินัยนี้.

เอตทัคคะ

ในพวกภิกษุปัญจวัคคีย์นั้น พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับ
ยกย่องของพระศาสดาในฐานเป็นเอตทัคคะ คือ เป็นยอดเยี่ยมแห่ง
ภิกษุทั้งหลายผู้รัตตัญญู แปลว่า ผู้รู้ราตรี คือผู้เก่าแก่. อันชนผู้ รัตตัญญู
คือ ผู้เก่าแก่ในขณะนั้น ๆ ย่อมได้พบเห็นและสันทัดมาใน
กิจการของคณะ ย่อมอาจจัดอาจทำให้สำเร็จด้วยตนเองหรือบอกเล่า
แนะนำผู้อื่น เป็นเจ้าแบบเจ้าแผนดุจผู้รักษาคลังพัสดุ ย่อมเป็นที่
นับถือของผู้ใหม่ในคณะ แม้ในพระธรรมวินัยนี้ ก็นิยมนับถือสาวก
ผู้รัตตัญญูดุจเดียวกัน สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงสรรเสริญพระเถระ ในฐานนี้ .

ปรินิพพาน

พระเถระเห็นอุปนิสัยของปุณณมาณพผู้หลาน ไปสู่พราหมณคาม
อันชื่อว่าโฑณวัตถุถิ่นเดิมของท่านแล้ว ยังปุณณมาณพให้บรรพชา
แล้วมาพักอยู่ในพุทธสำนัก ท่านเองเป็นผู้เฒ่า อยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านไม่สบาย
ได้ถวายบังคมลาพระศาสดาไปอยู่ป่า ที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า
สระฉันทันต์อันเป็นผาสุกวิหาร ได้นิพพาน ณ ที่นั้น ก่อนพุทธปรินิพพาน.


นักธรรมโท – อนุพุทธประวัติ

หนังสืออนุพุทธประวัติที่พิมพ์ครั้งนี้ คงเค้าความตามฉบับเดิม
เป็นแต่ชำระระเบียบอักษรให้ต้องกับนิยมในบัดนี้จนตลอด เพื่ออนุโลม
ให้ยุกติ เป็นระเบียบเดียวกันกับหนังสือแบบเรียนธรรมวินัยอย่างอื่น ๆ
ที่ใช้เป็นหลักสูตรแห่งการเรียน ซึ่งพิมพ์ใหม่ในยุคนี้.

โดยพระกระแสรับสั่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
พระสาสนโสภณ

วัดเทพศิรินทราวาส
วันที่ ๑ พฤษภาคม พ. ศ. ๒๔๖๙

รวบรวม/เรียบเรียงโดย กรม -วชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร
วันที่๘กุมภาพันธ์




พระอัญญาโกณฑัญญะเถระ พระยสะ คำคืนผ้า เนื้อต้องห้าม
คำขอขมา คำอนุโมทนากฐิน คำลาสิกขา คำแสดงตนเป็นอุบาสก
อนุโมทนาวิธี คำสัตตาหะ คำสมาทานธุดงค์ ๑๓ ข้อ บทสวดสติปัฏฐาน๔
อนุโมทนาวิธี แปล เจริญพระพุทธมนต์ พระภิกขุปาฏิโมกข์ บทพิจารณาสังขาร
ถวายพรพระ บทสวดพุทธมนต์ คำสมาทานพระกรรมฐาน ปฏิทินวันพระ
กรวดน้ำตอนเย็น พระสังคีณี คำปวารณาออกพรรษา หลวงปู่คำพันธ์
 กลับสู่หน้าหลัก