คำสมาทานกรรมฐาน
อิมาหัง ภันเต ภะคะวา อัตตะภาวัง ตัสสะ ภะคะวะโต ปะริจจัชชามิ
- ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย
ขอมอบอัตภาพร่างกายและชีวิต แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
เพื่อปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตามเวลาอันสมควรต่อไป

อิมาหัง ภันเต อาจะริยะ อัตตะภาวัง อาจะริยัสสะ ปะริจจัชชามิ
- ข้าแต่พระอาจารย์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบอัตภาพร่างกายและชีวิต
ถวายต่อท่านพระอาจารย์ ขอพระอาจารย์โปรดให้พระกรรมฐาน
แก่พวกข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อจะได้ปฏิบัติในโอกาสอันสมควรต่อไป

นิพพานัสสะ เม ภันเต สัจฉิกะระณัตถายะ วิปัสสะนากัมมัฏฐานัง เทหิ
- อุกาสะ อุกาสะ สาธุ สาธุ ณ โอกาสบัดนี้
ข้าพเจ้าจะขอสมาทานเอา ซึ่งพระกรรมฐานทั้ง ๒ คือ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน
ขอขณิกะสมาธิ อุปะจาระสมาธิ อัปปะณาสมาธิ จงบังเกิดมีในจิตตะสันดานของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะตั้งสติกำหนดไว้ ที่ลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้ารู้ ลมหายใจออกรู้ รู้สามหนและเจ็ดหน
รู้ร้อยหนและพันหน ด้วยความไม่ประมาท ขอวิปัสสนาญาณ คือดวงธรรมอันประเสริฐ จงบังเกิดมีใน
จักขุทะวาร โสตะทะวาร ฆานะทะวาร ชิวหาทะวาร กายะทะวาร มะโนทะวาร ของข้าพเจ้า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเทอญ.


คำสมาทานกรรมฐาน
ตามแบบฉบับของ
พระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ)
วัดธาตุมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม

คำอาราธนากรรมฐาน

"อิมานิ กัมมัฏฐานานิ สะมะถัญจะ วิปัสสะนากัมมัฏฐานัญจะ อะธิฏฐามิ"


     ข้าพเจ้าจักเจริญกรรมฐานภาวนา บูชาพระรัตนตรัย อุดมสั่งสมบารมีธรรม บำเพ็ญอิทธิบาททั้ง ๔
บ่มอินทรีย์ให้แก่โดยกาล สังหารนิวรณ์๕ ให้เหือดหาย สืบสายวิตกวิจารปีติ สิริร่วมสุขเอกัคตา
ต่อให้ถึงฌาน๔ พร้อมทั้งวสีทั้ง๕ เกิดมรรคพระอริยสมังคี ล้างธุลีกิเลสให้สูญ ตัดมูลอาสะวานุสัย
ห่างไกลสังโยชน์ ล่วงถึงประโยชน์ยิ่ง
     ขอคุณพระศรีรัตนตรัย คุณไทอธิราชเทวา คุณบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ คุณความดีทุกประการ
จงมาเป็นที่พึ่งแก่ข้าพเจ้า บรรเทาทุกร้อนให้เหือดหาย ทำลายมาร๕ ให้พินาศ ปราศจากภยันตรายนิรันดร์
เกษมสันต์ประสบสิ่งเสมอใจ สมดั่งความมุ่งหมาย ในกาลบัดนี้เทอญฯ

(คัดลอกจาก ตำรามรดกอีสาน)


คำสมาทานกรรมฐาน (อีกแบบ ๑)

อิมาหัง ภะคะวา, อัตตะภาวัง, ตุมหากัง ปะริจจะชามิ,
- ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า, ข้าพระองค์ขอมอบกายถวายชีวิต,
ต่อคุณพระศรีรัตนตรัย, คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์,

อิมาหัง อาจะริยะ, อัตตะภาวัง, ตุมหากัง ปะริจจะชามิ,
-
ข้าแต่พระอาจารย์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าขอมอบกาย ถวายตัวต่อครูบาอาจารย์,
เพื่อเจริญวิปัสสนากรรมฐาน,

นิพพานัสสะ เม ภันเต, สัจฉิกะระณัตถายะ, กัมมัฏฐานัง เทหิ,
-
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ, ขอท่านจงให้กรรมฐานแก่ข้าพเจ้า ณ โอกาสบัดนี้,
เพื่อกระทำให้แจ้ง ซึ่งมรรคผล นิพพาน, ในอนาคตกาลต่อไป,

อัทธุวัง เม ชีวิตัง, ธุวัง มะระณัง,
- ชีวิตของเราเป็นของไม่แน่นอน, ความตายเป็นของแน่นอน, วันหนึ่งเราจะต้องตายอย่างแน่นอน,
วันนี้จึงเป็นโชคอันดี, เป็นลาภอันประเสริฐ, ที่เราได้มาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน, ไม่เสียชาติ
ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์, ได้พบพระพุทธศาสนา,   

เย เนวะ ยันติ นิพพานัง,
- แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, และ เหล่าพระสาวกทั้งหลาย,
ก็ล้วนได้ดำเนินเส้นทางนี้ไปสู่พระนิพพาน, อันเป็นหนทางแห่งความสิ้นทุกข์,
ข้าพเจ้าจึงขอตั้งสัจจะอธิษฐาน, จะตั้งอกตั้งใจให้มีความอดทน, พากเพียรพยายาม,
ที่จะประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน, อย่าง จริงๆจังๆ, แม้จะเกิดมีอุปสรรคใดๆ มาขวางกั้น,
ก็จะไม่ลดละทอดทิ้ง, ความพากเพียร พยายามในการปฏิบัติธรรม,

อิมายะ ธัมมานุธัมมะ, ปะฏิปัตติยา ระตะนัตตะยัง ปูเชมิ.
- ข้าพเจ้าขอบูชาพระรัตนตรัย, ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนาธรรม, อันสมควรแก่ มรรค ผล นิพพาน,
ซึ่งเป็นหนทางสู่ที่สุดแห่งทุกข์,

ด้วยสัจจะวาจาที่กล่าวอ้างมานี้, ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ขันธมารทั้งหลาย, เหล่ามารทั้งหลาย,
และกิเลสมารทั้งหลาย, จงอย่าเป็นอุปสรรคขัดข้อง, ต่อการปฏิบัติวิปัสสนาธรรมของข้าพเจ้า,

ขอจงได้อโหสิกรรม, และร่วมอนุโมทนาสาธุการ, รับเอาส่วนบุญกุศลจากข้าพเจ้า ที่จะพึงปฏิบัติได้ ณ โอกาสบัดนี้,

และข้าพเจ้าขออาราธนา, พระคุณธรรมวิเศษทั้งหลายทั้งสิ้น, มีพระขณิกสมาธิ, พระอุปจารสมาธิ,
พระธรรมปีติทั้งห้า, พระวิปัสสนาญาณ, รวมทั้งพระโสฬสญาณ, จงมาเป็นพละวะปัจจัย, เป็นนิสัยตามส่ง,
มาบังเกิดในขันธสันดานของข้าพเจ้า, ขอให้ข้าพเจ้า สามารถถึงที่สุดแห่งทุกข์,

คือ มรรค ผล นิพพาน, ให้ได้โดยเร็วพลันด้วยเทอญ.
สาธุ นิพพานัสสะ ปัจจะโย โหตุ
สาธุ นิพพานัสสะ ปัจจะโย โหตุ
สาธุ นิพพานัสสะ ปัจจะโย โหตุ

วิธีนั่งสมาธิ-เดินจงกรม
ตามแบบหลวงปู่เสาร์-หลวงปู่มั่นที่ใช้ทั้งพระและฆราวาส

วิธีนั่งสมาธิ


๑.นั่งขัดสมาธิ ตามแบบพระพุทธรูป เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย วางมือทั้งสองไว้บันตัก

๒.ตั้งกายให้ตรง อย่าให้ก้มนักเงยนัก อย่าให้เอียงซ้ายเอียงขวาจนผิดธรรมดาไม่กดหรือเก็งอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง
อันเป็นการบังคับให้ลำบาก ปล่อยวางอวัยวะทุกส่วนไว้ตามปกติ

๓.ระลึก พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๓ ครั้ง อันเป็นองค์พระรัตนตรัย

๔.นึกคำบริกรรมภาวนาโดยกำหนดเอาเพียงบทเดียวติดต่อกันไป ด้วยความมีสติ
เช่น พุทโธ พุทโธ พุทโธ..เป็นต้น ให้นึก พุทโธ พุทโธ พุทโธ...สืบเนื่องกันไปด้วยความมีสติ
และพยายามทำความรู้สึกตัวอยู่กับพุทโธ พุทโธ พุทโธ อย่าให้จิตเผลอตัวไปสู่อารมณ์อื่น
ระหว่างจิต สติ กับ คำบริกรรม มีความกลมกลืนกันได้เพียงไร ยิ่งเป็นความหมุ่งหมายของการภาวนาเพียงนั้น
ผลคือความสงบเย็นใจจะพึงเกิดขึ้น

การเดินจงกรม
๑.พึงกำหนดทางจงกรมที่ตนจะพึงเดินสั้นหรือยาวเพียงไร ความยาว ๒๕-๓๐ ก้าว
เป็นความเหมาะสมทั่วไป พึงดูว่าเราจะเดินจากที่นี่ไปถึงที่นั้นหรือถึงที่โน้น
สำเหรับทิศทางที่ท่านนิยมปฏิบัติ มี ๓ ทิศ คือ
-ตรงตามแนวตะวันออก ตะวันตก
-ตามแนวตะวันออกเฉียงใต้
-ตามแนวตะวันออกเฉียงเหนือ
จากนั้นตกแต่งทางจงกรมให้เรียบร้อย ก่อนเดินจงกรม

๒.ผู้จะเดินกรุณาไปเดินที่ต้นทางจงกรม และพึงยกมือทั้งสองขึ้นประนมไว้เหนือระหว่างคิ้ว
ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และระลึกถึงคุณของบิดามารดา อุปัชฌาย์ อาจารย์ ตลอดจน
ผู้เคยมีพระคุณแก่ตน
     จบลงแล้วรำพึงถึงความมุ่งหมายแห่งความเพียรที่กำลังจะทำด้วยความตั้งใจเพื่อผลนั้นๆ
เสร็จแล้วปล่อยมือลง เอามือขวาทับมือซ้ายทาบกันไว้ใต้สะดือ ตามแบบพุทธรำพึง เจริญพรหมวิหาร ๔
จบแล้วทอดตาลงเบื้องต่ำ ท่าสำรวม

๓.ตั้งสติกำหนดจิตและธรรมที่เคยนำมาบริกรรมกำกับใจ พุทโธ พุทโธ พุทโธ.. เป็นต้น
แล้วออกเดินทางจงกรมจากต้นทางถึงปลายทางจงกรมที่กำหนดไว้ เดินกลับไปกลับมาในท่าสำรวม
มีสติอยู่กับบทธรรมหรือสิ่งที่พิจารณาโดยสม่ำเสมอ ไม่ส่งจิตไปอื่นจากงานที่กำลังทำอยู่ในเวลานั้น

๔.ขณะเดินจงกรม พึงกำหนดสติกับคำบริกรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธ....ให้กลมกลืนเป็นอันเดียวกัน
ประคองความเพียรด้วยสติสัมปชัญญะ มีใจแน่วแน่ต่อธรรมที่บริกรรม ให้จิตรู้อยู่กับ พุทโธ
ทุกระยะที่ก้าวเดินไปและถอยกลับมา

ข้อพึงสำรวม
๑.การเดิน ไม่พึงเดินไกวแขน
๒.ไม่เอามือขัดหลังหรือกอดอก
๓.ไม่เดินมองโน่นมองนี่ อันเป็นท่าไม่สำรวม


ที่มา หนังสืออนุสรณ์งานวันบูรพาจารย์
ครบรอบวันถวายเพลิงศพ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ปีที่ ๖๐ วันที่ ๒๙-๓๑ มกราคม ๒๕๕๓
วัดป่าสุทธาวาส ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

บทจุลลไชยปกรณ์ ตำนานพระปริตร บทสวดปฏิจจสมุปบาท บทสวดสติปัฏฐาน๔ ประวัติพุทธสาวก
คำลากลับบ้าน บทปัพพโตปมคาถา บทเขมาเขมสรณทีปกคาถา คำสมาทนากรรมฐาน บทภารสุตตคาถา
บทปัจฉิมพุทโธวาท ติลักขณาทิคาถา บทสวดถวายพระพร โอวาทก่อนปรินิพพาน หลวงปู่คำพันธ์
ปฏิทินวันพระ มงคลปริตร คำปวารณาออกพรรษา คำอาราธนาธรรม เสียงพระพุทธประวัติ
ปัจฉิมพุทโธวาทปาฐะ วันออกพรรษา คำไหว้พระเจ้า ๑๐ ชาติ พระสังคีณี คาถากำลังวัน
คาถาบารมี ๓๐ ทัศ พระเจ้าพิมพิสาร ประวัติพระธาตุพนม รัตนปริตร ศิลปะพระธาตุพนม
บทพิจารณาสังขาร ประวัติวัดป่ามหาชัย      

 กลับสู่หน้าหลัก