ตำ น า น พ ร ะ ป ริ ต ร  
ตำนานพระปริตร : เ จ็ ด ตำ น า น  

โดยทั่วไปพุทธศาสนิกชนมักทำบุญ  
โดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดสาธยายบทพระพุทธมนต์ในพิธีมงคล  
หรือพิธีที่จัดขึ้นเพื่อความสุขความเจริญ   เป็นสิริมงคลแก่การดำเนินชีวิตในวาระต่างๆ  
ซึ่งมักจะเรียกรวมกันว่าว่า   พิธีเจริญพระพุทธมนต์  

คำว่า “ พระพุทธมนต์ ” หมายถึง  
พระพุทธพจน์อันเป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า  
ที่มีปรากฏในพระไตรปิฏกบ้าง   เป็นคำที่แต่งขึ้นมาภายหลังบ้าง  

โดยถือกันว่าพระพุทธมนต์เป็นคำศักดิ์สิทธิ์  
สามารถปัดป้องอันตรายต่างๆ ได้   จึงเรียกอีกอย่างว่า “ พระปริตร ”  

คำว่า “ ปริตร ” มีความหมายว่า คุ้มครองรักษา  
หรือเครื่องคุ้มครองป้องกัน   ซึ่งบทพระพุทธมนต์ที่นิยมว่าศักดิ์สิทธิ์  
เท่าที่ปรากฏรวบรวมไว้มี ๗ บท   จึงเรียกว่า   เจ็ดตำนาน  

( ตามปกติ คำว่าตำนาน จะหมายถึงเรื่องราวนมนานที่เล่ากันสืบๆ มา  
แต่ในที่นี้เป็นการเรียกพระปริตรบทๆ หนึ่งว่า ตำนาน   ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะแผลงมาจาก  
คำว่า ตาณ ในภาษาบาลีที่แปลว่า ต้านทาน   หรือป้องกันเช่นเดียวกับคำว่า ปริตร  
หรืออาจจะหมายถึงตำนานอันเป็นที่มาของแต่ละพระสูตรก็เป็นได้)  

การสวดพระปริตรหรือเจ็ดตำนานนี้  
เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศลังกา ราว พ.ศ. ๕๐๐  

ด้วยว่าชาวลังกาที่นับถือพุทธศาสนาในขณะนั้น   ประสงค์ให้พระสงฆ์ช่วยเหลือตนให้เกิดสิริมงคล  
และป้องกันภยันตรายต่างๆ ด้วยการสวดมนต์   และคาถาตามแบบอย่างพราหมณ์  
ซึ่งมีความเชื่อว่าผู้ทรงเวทจะทำให้เกิดสิริมงคล   และป้องกันภยันตรายแก่มหาชนได้  

ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์ลังกาจึงได้คิดวิธีสวดพระปริตรขึ้น   โดยเลือกเอาพระสูตรหรือคาถา
ที่สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย   อันเกิดขึ้นเนื่องด้วยเหตุการณ์ต่างๆ มาสวดเป็นมนต์  

โดยการสวดครั้งแรกๆก็ขึ้นกับเหตุการณ์ที่ไปสวด   เช่น ไปสวดพิธีมงคลก็ใช้มงคลสูตรสวด  
สวดให้คนเจ็บป่วยก็ใช้โพชฌงคสูตร   ครั้นคนนิยมมากขึ้นก็คิดค้นพระสูตรต่างๆ  
มาสวดเป็นพระปริตรมากขึ้นเป็นลำดับ  

ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินประเทศลังกา   ก็ได้รับสั่งให้คณะสงฆ์ปรับปรุงพระสูตร  
และคาถาที่ใช้สวดพระปริตรขึ้นใหม่ให้เหมาะกับเหตุการณ์   เพื่อใช้ในพระราชพิธีหลวง
โดยได้เพิ่มพระสูตรและคาถาให้มากขึ้น   และเรียกว่า “ ราชปริตร ”
แปลว่า   มนต์คุ้มครองพระเจ้าแผ่นดิน  

ต่อมาประชาชนต่างก็นิยมให้มีการสวดพระปริตรในพิธีของตนบ้าง  
จึงเกิดเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน  

เจ็ดตำนานหรือพระปริตร  

ซึ่งหมายถึง มนต์อันเป็นเครื่องป้องกันภยันตรายต่างๆ  
มีอยู่ด้วยกัน ๗ พระสูตรคือ  

๑. มงคลสูตร  
ว่าด้วยเหตุที่จะทำให้เกิดสิริมงคล  

๒. รัตนสูตร  
ว่าด้วยรัตนทั้ง ๓ คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์  
สวดเพื่อปัดเป่าอุปัทวันตรายให้หมดไป  

๓. กรณียเมตตสูตร  
ว่าด้วยการเจริญเมตตา ไปไหนมาไหนให้คน เทวดารักใคร่เมตตา  

๔. ขันธปริตร  
ว่าด้วยพระพุทธมนต์สำหรับป้องกันสัตว์ร้ายพวกอสรพิษ  

๕. ธชัคคสูตร  
ว่าด้วยการเคารพธงและการรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัยทำให้หายหวาดกลัว  

๖. อาฏานาฏิยปริตร  
ว่าด้วยพระพุทธมนต์ที่สามารถป้องกันอุปัทวันตรายทั้งปวง  

๗. อังคุลิมาลปริตร  
ว่าด้วยมนต์ขององคุลีมาล  
ใช้ในงานมงคลหรือทำให้คลอดลูกง่าย  

          

สำหรับความเป็นมาของพระสูตรแต่ละเรื่อง   สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.)  
กระทรวงวัฒนธรรมได้สรุปส่วนหนึ่ง   จากหนังสือ “ วรรณคดีขนบประเพณีฯ”  
ของอาจารย์เบญจมาศ พลอินทร์ ความว่า  

• มงคลสูตร  
เกิดจากชาวชมพูทวีปต่างถกเถียง   และตกลงกันไม่ได้ว่ามงคลคืออะไร  
จึงพากันไปทูลถามพระพุทธเจ้า   ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้ให้คำตอบว่า  
สิ่งอันเป็นมงคลในชีวิตมี ๓๘ ประการ   หรือที่ชาวพุทธรู้จักในนาม มงคล ๓๘ นั่นเอง  
เช่น ไม่คบคนพาล คบบัณฑิต วาจาเป็นสุภาษิต ฯลฯ  
ซึ่งธรรมอันเป็นมงคลนี้   พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ว่ามนุษย์หรือเทวดาปฏิบัติ  
ก็ล้วนเป็นสิริมงคลแก่ตัวทั้งสิ้น  

• รัตนสูตร  
เล่ากันว่าครั้งหนึ่งเมืองไพสาลีเกิดทุพภิกภัย   ฝนแล้งข้าวยากหมากแพง  
คนล้มตายเพราะความอดอยาก   ประชาชนก็ไปร้องต่อพระเจ้าแผ่นดิน  

พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้ประชาชนตรวจสอบพระองค์ว่า  
ผิดธรรมข้อใดหรือเปล่า จึงเกิดเหตุเช่นนี้   ก็ปรากฏว่าไม่ผิดธรรมข้อใด  
จึงพากันไปอาราธนาพระพุทธเจ้ามาเมืองไพสาลี   เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึง
ก็ปรากฏว่ามีฝนตกมาห่าใหญ่   ครั้นนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสเรียกพระอานนท์ให้มาเรียน รัตนสูตร  

อันมีเนื้อความสรรเสริญแก้ววิเศษ ๓ ประการ   ที่ไม่มีแก้วอื่นใดเสมอเหมือนคือ พุทธรัตนะ ธัมมรัตนะ
และสังฆรัตนะ   และทำให้ผู้สวด ผู้ฟัง ผู้บูชาและผู้ระลึกถึงประสบแต่ความสวัสดี  

ซึ่งเมื่อพระอานนท์เรียนจากพระพุทธองค์   ก็นำบาตรน้ำมนต์ของพระพุทธเจ้า
ไปประพรมทั่วนครไพสาลี   เมื่อน้ำพระพุทธมนต์ไปถูกพวกปีศาจๆ ก็หนีไป   ไปถูกมนุษย์ที่เจ็บป่วย
โรคเหล่านั้นก็หายสิ้น   แต่นั้นมาชาวเมืองก็มีความสงบสุขตลอดมา  

• กรณียเมตตสูตร  
เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนพระภิกษุ ๕๐๐ รูป   ที่ได้เรียนกัมมัฏฐานแล้ว
คิดจะหาสถานที่สงบบำเพ็ญธรรม   เมื่อเดินทางไปถึงหมู่บ้านหนึ่ง   ชาวบ้านเห็นก็เลื่อมใสยินดี
นิมนต์ให้อยู่ปฏิบัติธรรม   พร้อมทั้งสร้างกุฏิให้  

ปรากฏว่าทำให้เทวดาที่อยู่ละแวกนั้นเดือดร้อน ไม่มีที่อยู่   จึงได้แสดงอาการน่ากลัวต่างๆ
มาหลอกพระภิกษุ   เมื่อพระภิกษุเห็นก็เกิดความหวาดกลัว   ไม่อาจทำจิตใจให้เป็นสมาธิได้  
จึงพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์  

พระองค์จึงได้สอน   กรณียเมตตสูตร   อันมีเนื้อความว่า  

ขอให้บุคคลเป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง ว่าง่าย   อ่อนโยนไม่หยิ่งยะโส มีสันโดษ  
ไม่ประกอบกรรมที่ผู้รู้ติเตียน   อย่าดูหมิ่นหรือหาทุกข์ให้กัน ฯลฯ  

เมื่อพระภิกษุกลับไปและนำไปสวดสาธยาย   เหล่าเทวดาก็เกิดความเมตตาแก่พระภิกษุ  
มิได้สำแดงอาการอย่างใดอีก   ทำให้พระภิกษุบำเพ็ญธรรมได้เต็มที่  
พระสูตรบทนี้ถือเป็นบทแนะนำวิธีสร้างเมตตามหานิยม   สร้างเสน่ห์แก่ตนเอง  

• ขันธปริตร  
เกิดจากพระภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัดที่เท้า   ทนพิษไม่ไหวถึงแก่มรณภาพ  

เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่อง   จึงตรัสสอนให้พระภิกษุรู้จักแผ่เมตตาแก่สกุลพญางูทั้งสี่  
คือ   พญางูวิรูปักข์ พญางูเอราบถ พญางูฉัพยาบุตร   และพญางูกัณหาโคตมะ  

ซึ่งมีเนื้อความว่า  
ไมตรีของเราจงมีแก่สกุลพญางูทั้งสี่   ตลอดทั้งสัตว์สองเท้า สี่เท้า อย่าเบียดเบียนเรา  
สัตว์ทั้งหลาย เช่น งู แมลงป่อง ตะขาบ เป็นต้น   มีประมาณไม่มากเหมือนคุณพระรัตนตรัย  
เราทำการนอบน้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่   ขอสัตว์ร้ายจงหลีกไป  

ในทางความเชื่อ  
พระพุทธมนต์บทนี้ใช้ภาวนาป้องกันอสรพิษทุกชนิดได้   แต่กล่าวกันว่า
ในงานพิธีทั่วไปไม่นิยมขึ้นต้นที่ “ วิรูปกฺเข”   เพราะเชื่อว่าเป็นบทปลุกผีให้ออกมาอาละวาด  
พระมักจะขึ้นที่ “ อปปฺมาโณ ”  

• ธชัคคสูตร  
มาจากที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้พระภิกษุฟังว่า  
เมื่อเทวดากับอสูรรบกัน   ท้าวสักกะซึ่งเป็นใหญ่ในหมู่เทวดา  
ได้แนะให้เหล่าเทวดาที่เกิดความกลัว หวาดสะดุ้ง   หรือขนพองสยองเกล้า  
ได้แลดูชายธงของเทวราชทั้งหลาย   เพื่อให้คลายจากความกลัว  

แต่พระพุทธองค์กล่าวว่าการดูธงของเหล่าเทวราช   อาจจะทำให้หายหรือไม่หายกลัวก็ได้  
เพราะเหล่าเทวดายังไม่ละกิเลส   อย่างไรก็ยังต้องมีความหวาดกลัวอยู่  

ดังนั้น จึงสอนให้พระภิกษุเชื่อ   และยึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแห่งจิตใจ  
จะทำให้คลายจากความกลัว   และรู้สึกปลอดภัยไม่หวั่นไหว  
บทนี้มักจะใช้สวดในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าธงไชยเฉลิมพล  

• อาฏานาฏิยปริตร  
เกิดเมื่อท้าวมหาราชทั้งสี่คือ   ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ และท้าวเวสสุวัณ  
ตั้งใจจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า   แต่เกรงว่าหากพวกอสูรรู้ว่าบนดาวดึงส์ไม่มีใครอยู่  
ก็อาจถือโอกาสมากวน   ซึ่งพวกตนก็อาจกลับมาไม่ทัน  

จึงได้จัดตั้งกองทหารไว้ ๔ กอง   ประกอบด้วยคนธรรพ์ ยักษ์ นาครักษาแต่ละทิศไว้  
แล้วพากันไปประชุมที่อาฏานาฏิยนคร   แล้วผูกมนต์เป็นอาฏานาฏิยปริตรขึ้น  
จากนั้นก็พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมบริวารเป็นจำนวนมาก  

แต่ปรากฏว่าบริวารของท้าวมหาราชเหล่านี้   ต่างก็มีปฏิกิริยาต่อพระพุทธองค์ต่างๆ กัน  
เพราะบ้างก็นับถือ บ้างก็ไม่เชื่อถือ   จนเป็นเหตุให้บรรดาสาวกของพระพุทธเจ้า
ที่ไปบำเพ็ญธรรมตามที่ต่างๆ   ต้องถูกผี ปีศาจ ยักษ์ที่ไม่เลื่อมใสเหล่านี้รบกวน  
จนเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเป็นอันตรายต่างๆ นานา  

ท้าวเวสสวัณจึงได้กราบทูล   ขอให้พระพุทธองค์รับอาฏานาฏิยปริตร  
ไว้ประทานแก่สาวกของพระองค์   เพื่อป้องกันมิให้ยักษ์ และภูตผีปีศาจรบกวน  

ซึ่งเนื้อความ  
เป็นการสรรเสริญพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์  
และขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยกาย วาจา ใจ   ไม่ว่าเวลานอน เดิน นั่ง หรือยืน  
ขอให้พระพุทธเจ้าเหล่านั้นได้คุ้มครองรักษาให้พ้นภัย พ้นโรค   และความเดือดร้อนต่างๆ  

ปริตรบทนี้ใครเจริญภาวนาอยู่เป็นนิตย์  
เชื่อว่ายักษ์ ผี ปีศาจก็จะช่วยคุ้มครองให้มีความสุขความเจริญ  

source:ลานธรรมจักร

๗. อังคุลิมาลปริตร  


ที่มา
พระองคุลิมาลโปรดหญิงมีครรภ์  
[ ๕๓๐] ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระองคุลิมาลครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรและจีวร  
เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี. กำลังเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกอยู่ในพระนครสาวัตถี  
ได้เห็นสตรีคนหนึ่งมีครรภ์แก่หนัก. ครั้นแล้วได้มีความดำริว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง  
หนอ สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองหนอ ดังนี้.  

ครั้งนั้น ท่านพระองคุลิมาลเที่ยวบิณฑบาต ในพระนครสาวัตถี เวลาปัจฉาภัตกลับจากบิณฑบาตแล้ว  
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.  
ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส  
เวลาเช้า ข้าพระองค์ครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี  
กำลังเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกอยู่ในพระนครสาวัตถีได้เห็นสตรีคนหนึ่งมีครรภ์แก่หนัก.  
ครั้นแล้วได้มีความดำริว่า   สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองหนอสัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองหนอ   ดังนี้.

[ ๕๓๑] พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกรองคุลิมาล ถ้าอย่างนั้น  
เธอจงเข้าไปหาสตรีนั้นและกล่าวกะสตรีนนอย่างนี้ว่า  
“ ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดมาแล้ว จะได้รู้สึกว่าแกล้งปลงสัตว์จากชีวิตหามิได้  
ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของท่านเถิด.

ท่านพระองคุลิมาลกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อาการนั้นจักเป็นอันข้าพระองค์  
กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่เป็นแน่ เพราะข้าพระองค์แกล้งปลงสัตว์เสียจากชีวิตเป็นอันมาก.

ภ. ดูกรองคุลิมาล ถ้าอย่างนั้น เธอจงเข้าไปหาสตรีนั้น แล้วกล่าวกะสตรีนั้นอย่างนี้ว่า
“ ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดแล้วในอริยชาติ จะได้รู้สึกว่าแกล้งปลงสัตว์เสียจาก  
ชีวิตหามิได้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของท่านเถิด”

พระองคุลิมาลทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาหญิงนั้นถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะหญิงนั้นอย่างนี้ว่า  
“ ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เวลาที่ฉันเกิดแล้วในอริยชาติ จะแกล้งปลงสัตว์จากชีวิตทั้งรู้หามิได้  
ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของท่านเถิด”

ครั้งนั้น ความสวัสดีได้มีแก่หญิง ความสวัสดีได้มีแก่ครรภ์ของหญิงแล้ว.

อังคุลิมาลสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ ( ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๓ 
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ 
หน้าที่ ๓๖๓ – ๓๖๔ หัวข้อที่ ๕๓๐ – ๕๓๑


พระปริตร
มงคลปริตร รัตนปริตร กรณียปริตร ขันธปริตร ธชัคคปริตร อาฏานาฏิยปริตร
อังคุลิมาลปริตร วัฏฏกปริตร โมรปริตร      


บทจุลลไชยปกรณ์ ตำนานพระปริตร บทสวดปฏิจจสมุปบาท บทสวดสติปัฏฐาน๔ ประวัติพุทธสาวก
คำลากลับบ้าน บทปัพพโตปมคาถา บทเขมาเขมสรณทีปกคาถา คำสมาทนากรรมฐาน บทภารสุตตคาถา
บทปัจฉิมพุทโธวาท ติลักขณาทิคาถา บทสวดถวายพระพร โอวาทก่อนปรินิพพาน หลวงปู่คำพันธ์
ปฏิทินวันพระ มงคลปริตร คำปวารณาออกพรรษา คำอาราธนาธรรม เสียงพระพุทธประวัติ
ปัจฉิมพุทโธวาทปาฐะ วันออกพรรษา คำไหว้พระเจ้า ๑๐ ชาติ พระสังคีณี คาถากำลังวัน
คาถาบารมี ๓๐ ทัศ พระเจ้าพิมพิสาร ประวัติพระธาตุพนม รัตนปริตร ศิลปะพระธาตุพนม
บทพิจารณาสังขาร ประวัติวัดป่ามหาชัย